Hello world!

Welcome to WordPress.com. This is your first post. Edit or delete it and start blogging!

โพสท์ใน Uncategorized | 1 ความเห็น

ปัญหาอำมาตย์-ไพร่-เหลือง-แดง และทางออก

คำเตือนบนสลากก่อนอ่าน: บทความนี้อาจทำให้ท่านระคายเคืองได้ แต่หลังจากเกิดระเบิดที่บริเวณถนนหน้าบ้าน ใจมันยิ่งอึดอัด ต้องหาที่ระบาย
 
๑.
 
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย…
 
ก็อยู่ที่ว่าพี่จะถามใคร
 
ถามไพร่… ไพร่บอกว่านี่เป็นสงครามระหว่างคนเอาเปรียบกับคนที่ถูกเอาเปรียบ เป็นการต่อสู้ของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคม   
 
ถามอำมาตย์… เอ ผมไม่แน่ใจ ถ้าถามอาร์มมาตย์ อาร์มมาตย์ขอตอบว่ากำลังงงตึบครับ
 
ปัญหาประเทศนี้มันเยอะแยะจริงๆ ดูไปดูมาทุกภาคส่วนดูจะเป็นปัญหาไปหมด
 
๒.
 
ก่อนอื่น ขอยืนยันว่าประเทศนี้มีปัญหาอำมาตย์
 
ผมจำได้ว่าตอนที่่มิตรชาวญี่ปุ่นของผมมาเที่ยวเมืองไทย ผมพาไปเลี้ยวข้าวที่โรงแรมหรูพร้อมเดินเล่นเซ็นทรัลเวิร์ล หลังจากทัวร์อาร์มมาตย์กันอยู่สี่ห้าวันแล้ว พี่แกบอกผมว่า เกิดเป็นอาร์มมาตย์นี่สบายจริง
 
เอาจริงๆ นะครับ แข่งเข้าจุฬาฯ ก็แข่งกับเพื่อนๆ อาร์มมาตย์ไม่กี่คนเอง แข่งหางานหรือครับ จบจุฬาก็มีงานทำอยู่แล้ว จะทำโน่นทำนี่ ก็มีบรรดาเครือข่ายสายเส้น มีรถขับ มีเงินใช้ มีข้าวกิน มีเหล้าดื่ม ชีวิตสะดวกสบาย เกิดมาถ้าไม่เสียคนไปก่อนก็ได้เป็น "เจ้าคนนายคน" แน่
 
พวกเราแข่งขันกันอยู่กับคนไม่กี่คน (ลองไปดูสิครับว่าเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายมีคอมมอนเฟรนด์ในเฟซบุคกันอยู่เท่าไร) ก็กลุ่มคนที่ผูกขาดทรัพยากรมีอยู่แค่นี้แหละครับ
 
ขณะที่คุณพี่ยุ่นของผมบ่นพ้อว่า ที่ญี่ปุ่นไม่มีปัญหาอำมาตย์เช่นนี้หรอก ที่ไม่มี ไม่ใช่เพราะญี่ปุ่นไม่มีอำมาตย์นะครับ แต่เพราะอำมาตย์ของญี่ปุ่นนั้นเยอะเกินไป เยอะจนไม่รู้จะใช้คำว่า "อำมาตย์" ไปทำไม หันซ้ายหันขวา หันหน้าหันหลัง ทุกคนก็พอๆ กันหมดครับ แย่งกัน ไม่ยอมใคร เหนื่อยครับ เพราะต้องแข่งกันมาก ไม่ว่าจะเรียนหนังสือ ทำงาน แม้กระทั่งหาศรีภรรยา
 
เขาเลยไม่เรียกว่าอำมาตย์แล้ว แต่เรียกว่า "ชนชั้นกลาง" แทน และนี่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก นั่นคือ เขามีชนชั้นกลางจำนวนมาก มีจนไม่มีปัญหาอำมาตย์ ไม่ใช่เพราะไม่มีอำมาตย์ (ย้ำอีกครั้ง) แต่เพราะทุกคนเป็นอำมาตย์กันหมด แฟร์ๆ เล่นเส้นไม่ได้ ใต้โต๊ะไม่ดี เพราะไม่มีใครปล่อยให้คุณทำ ทุกคนมีเส้นพอๆ กัน ทุกคนคอยจับผิดกัน สุดท้ายจะตัดสิน "ความดีความชอบ" ก็ต้องตัดสินด้วยความดี ความชอบ ด้วยผลงาน เพราะพ่อแม่ก็พอๆ กัน การศึกษาก็พอๆ กัน เครือข่ายก็พอๆ กัน ก็ต้องดูว่าใครขยัน ใครเก่งจริง ใครคิดอะไรใหม่ๆ ใครสร้างนวัตกรรม… ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ชาวบ้านเขาเจริญกันเพราะอย่างนี้นะ
 
เพราะฉะนั้น ผมจึงได้ข้อสรุปที่ตลกว่า ปัญหาอำมาตย์ของไทยคือการที่ไพร่เราไม่ขยับเป็นอำมาตย์กันสักที แต่เพราะอะไรเล่า? ขออนุญาตนำท่านสู่…ปัญหาของไพร่
 
๓.
 
ปัญหาไพร่ สอดคล้องอย่างแยกไม่ได้กับปัญหาอำมาตย์ครับ เพราะอำมาตย์จะอยู่ไม่ได้เลยนะถ้าไม่มีไพร่ให้เขาขูดรีด อุปถัมภ์และตักตวง… ถ้าไพร่กลายเป็นอำมาตย์กันหมด ก็ไม่เหลืออำมาตย์โดยอัตโนมัติ
 
ผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าปัญหาไพร่คืออะไร แต่พอจับความที่มีคนพูดๆ กันได้ว่า
 
ปัญหาแรก คือ โครงสร้างอันไม่เป็นธรรมของสังคมไทย และการที่รัฐไม่มีนโยบายช่วยเหลือไพร่ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งยอมรับว่าคงจะเป็นเรื่องจริงสำหรับประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน และอำมาตย์หนีภาษีกันถ้วนหน้า สำหรับประเทศที่ลูกสาวท่านผู้นำเห็นข้อสอบเอนทรานซ์ก่อนผม สำหรับประเทศที่รมต.จบเมืองนอก แก้ปัญหาธนาคารต่างๆ ได้ แต่ไม่เข้าใจปัญหาชนบทเลย  
 
ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง – การเพิกเฉยของรัฐนี้สำคัญ ฟังดูน่าเชื่อครับว่าถ้าเรามีระบบกฎเกณฑ์ที่เจริญก้าวหน้า สมบูรณ์สมเหตุสมผลอย่างในอเมริกาหรือยุโรป เราคงเจริญมีอารยะกันได้สักที แต่แท้จริงแล้วโครงสร้างที่ไม่เข้าท่า (ตามทฤษฎีฝรั่งนานาชนิด) นี้เป็นปัญหาของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหมดนะครับ รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกด้วย แต่ชาวบ้านเขาก็เติบโตก้าวหน้ามาได้ในโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือจีน จีนเองจนปัจจุบันโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมก็ยังเห็นกันอยู่เต็มไปหมด ให้นักวิชาการเลือกหยิบมาด่าได้ทุกเมื่อเชื่อวันเหมือนกัน แต่ว่าสังคมเขามี "วิวัฒนาการ" ครับ คือมันค่อยๆ ขยับปรับปรุงดีขึ้นๆ ซึ่งสังคมเราก็มี แต่ว่ามันช้ากว่าเขามาก
 
ดังนั้นจึงมาถึงปัญหาไพร่ข้อสอง นั่นคือ คนของเราไม่ค่อยขยับขึ้นช้างบน เพราะ "ค่านิยม" ของสังคมไม่เอื้อ
 
ประเทศเอเชียตะวันออกทั้งหมด ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีค่านิยมตามลัทธิขงจื๊อ นั่นคือเกิดเป็นคนต้องขยันและรักการศึกษา ดูจากการสอบจอหงวนสิครับ จนแค่ไหน ถ้าสอบได้ที่หนึ่ง ก็ได้เป็นขุนนางใหญ่โต ขอแค่ให้ตั้งใจเรียนหนังสือ ตั้งใจทำมาหากิน ก็ขึ้นมาเป็น "อำมาตย์" ได้
 
ผมไม่ขอวิจารณ์ว่าไทยเรามีค่านิยมอะไร เพราะผมก็เริ่มมึนๆ แต่ที่แน่นอนคือ ค่านิยมที่จะถีบตัวเองขึ้นมาของเรา มันไม่แพร่หลาย มันไม่เข้มข้น การศึกษาทำให้รู้วิธีการ รู้ช่องทาง ที่ฝรั่งเขาเรียกว่าโนว์ฮาว แต่ชาวบ้านเราไม่ค่อยรู้โนว์ฮาวที่จะเป็นอำมาตย์ เขาไม่รู้จริงๆ ว่าทำอย่างไร และเขาก็ไม่ได้รู้สึกอยากด้วย ทางที่ง่ายกว่าคือรอให้ "ท่าน" (เช่น คุณทักษิณกับนโยบายประชานิยม) มาอุปถัมภ์
 
อาจารย์ชาวจีนเคยเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ท่านไปอินเดียแล้วตกใจมากก็คือ ท่านเห็นถนนสายหนึ่งที่ถนนข้างหนึ่งเป็นคฤหาสน์ อีกข้างหนึ่งเป็นสลัม ท่านบอกว่าจินตนาการไม่ออกว่าในจีนจะมีถนนอย่างนี้ เพราะอยู่กันไม่ได้ ข้างสลัมก็จะอยากเป็นอย่างข้างคฤหาสน์ คล้ายๆ กับเพื่อนเกาหลีเคยเล่าให้ผมฟังว่า ต้องมาเรียนเมืองนอก เพราะคนข้างบ้านก็ส่งลูกมาเรียนเมืองนอก จะน้อยหน้าเขาไม่ได้ 
 
มันฟังดูขัดกับค่านิยมพื้นฐานบางอย่างของเราไหมครับ ค่านิยมลัทธิขงจื๊อนี้ บางกรณีอาจไม่เหมาะไม่งามและเกินเลยไป (จนทำให้คนเชื่อสายจีนคนหนึ่งลาออกจากตำรวจ ถีบตัวเองผูกขาดบริษัทโทรศัพท์, ครม., ประเทศ, และความฝันลมๆ แล้งๆ ตามลำดับ… จนหน้าตาเหลี่ยมและดูไม่ได้ขึ้นทุกวัน) แต่ผมอยากจะบอกว่าถ้า "แข่งกันดี" ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และส่งผลบวกต่อประเทศชาติแน่ๆ
 
๔.
 
ตอนนี้ปวดหัวครับ เพราะไม่รู้ว่าจะไปยืนตรงไหน
 
ปัญหาของแดง (เฉพาะแดงที่มีสาระ ไปพ้นลัทธิคลั่งคนแล้ว) สำหรับผม ก็คืออ่านหนังสือมาร์กซ์ เหมาแล้วคลั่งครับ (คลั่งหนังสือ) คิดว่าทางออกของปัญหาอำมาตย์คือล้มอำมาตย์ ระเบิดอำมาตย์ ฆ่าอำมาตย์…เศร้าครับ
 
ใช้ได้ในฝรั่งเศส ช่วงที่ความเหลื่อมล้ำมันมาก ใช้ได้ในจีน ช่วงที่ความเหลื่อมล้ำมันถึงจุดระเบิด แต่มองไปมองมา วันนี้ ไม่มีความเหลื่อมล้ำอย่างนั้นในไทย ดูจากสถิติอัตราความเหลื่อมล้ำแล้ว ตัวเลขเราพอๆ กับอเมริกา สิงคโปร์ ต่ำกว่าจีน มาเลย์อีก
 
ปัญหาที่คนพวกนี้ไม่เข้าใจ (ไม่แปลก เหมาก็ไม่เข้าใจ ต้องรอเติ้งเสี่ยวผิงกว่าจะ "เก็ท") ก็คือ ทางแก้ไม่ใช่การทำให้ไม่มีอำมาตย์ สังคมไหนก็ต้องมีอำมาตย์อยู่แล้ว และสังคมที่เจริญแล้วคือสังคมที่มีอำมาตย์มาก ไม่ใช่น้อย คือสังคมที่เต็มไปด้วย "ชนชั้นกลาง" นั่นเอง
 
ปัญหาของเหลือง (เฉพาะเหลืองที่มีสาระ ไปพ้นลัทธิคลั่งคนเช่นกัน) ก็คือติดกับอยู่ที่เรื่องการปราบคนโกง โดยจะเอาคนโกงลงทุกวิถีทาง จนกลายเป็นแฟชั่นฮิตติดกระแสฉุดรั้งไม่อยู่ ยอม "เผาเมือง" (ทำลายสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไป) เพียงเพื่อจะจับโจร ปรากฎว่าเมื่อเผาเมืองเสร็จ จับโจรก็ไม่ได้ แถมเจอโจรใหม่อีกเพียบ แล้วก็ต้องเลือกระหว่างจะอุดหนุนโจรที่เหลืออยู่คนไหนดี แถมโจรเก่ากลับมาเผาเมืองซ้ำอีก… มองที่ปลายปัญหา และก็งงเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป
 
ปัญหาที่ท่านเหลืองทั้งหลายไม่เข้าใจ ก็คือ จะให้อำมาตย์จับโจร นี่เหนื่อยครับ ทางที่ดีคือ ถ้าเรามีอำมาตย์เยอะๆ (ชนชั้นกลางมากๆ) สังคมการเมืองเราก็จะเข้มแข็งขึ้น เราจะมีทางเลือกมากขึ้น (ไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์ vs. no one) และคนเราก็จะไม่กล้าโกงกันหน้าด้านๆ เพราะคนรอบตัวคุณซึ่งมีจำนวนมหาศาล (ไม่ใช่แค่คนข้างบนหรือคนข้างล่าง) คงไม่ยอมแน่
 
๕.
 
ดังนั้น ทางออกจากอุโมงค์ (ฉบับอาร์มมาตย์) ก็คือ การพยายามส่งเสริมให้ไพร่กลายเป็นอำมาตย์ (Ammartnization) ซึ่งจริงๆ จะช่วยทำให้เกิดการสลายอำนาจอันไม่ชอบธรรมของอำมาตย์ (Non-Proliferation of Ammartive Power)
 
ทำอย่างไรล่ะครับ เพราะพูดแล้วก็ฟังดูดี (เห็นไหม ผมยังประดิษฐ์ศัพท์วิชาการไว้สำหรับอ้างอิงในอนาคตด้วย) แต่ทำจริงๆ แล้วยาก
 
เราต้องจัดการแก้ปัญหาให้ตรงจุดสองจุดในส่วนปัญหาไพร่ เพราะถ้าแก้ปัญหาไพร่ได้ ก็เท่ากับแก้ปัญหาอำมาตย์โดยปริยาย ดังกล่าวมาแล้ว (ถ้างง กรุณาเลิกอ่านซะตั้งแต่ตรงนี้เถอะครับ) 
 
จุดแรก ต้องแก้ไขโครงสร้างอันไม่เป็นธรรม และจัดทำนโยบายของรัฐเพื่อช่วยเหลือไพร่… โดยรัฐบาล (ไม่ว่าใคร) ต้องทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง และเอากันด้วยโครงการระยะยาว และขนาดมหึมา เพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านมีทุน มีโอกาส มีเวที (ไม่ใช่มีแต่เสื้อสีและมือตบเชียร์) ผมคิดว่าประเด็นหลักคือการจัดสรรโอกาส ไม่ใช่การสร้างรัฐสวัสดิการ เพราะเรายังไม่พร้อม
 
จุดที่สอง เรื่องค่านิยม อันนี้ยิ่งยากเข้าไปอีก แต่ผมคิดว่าเราอยู่ในยุคสมัยที่มีโอกาสทำให้สำเร็จได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารจำนวนมาก ถ้าเราทำให้คนชนบทเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือตนเอง สร้างกิจการ สร้างกลุ่มต่อรอง… ให้เขาสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตซึ่งมีความรู้มากมายไร้พรมแดน ขณะเดียวกันสื่อใหญ่ๆ ทั้งหมดในไทยร่วมมือกันทำแผนการแห่งชาติในการส่งเสริมการรายงานข่าวนโยบาย (ไม่ใช่คนทะเลาะกัน) ข่าวมีสาระ ข่าวโนฮาว… เอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องก็ร่วมมือกันทำกิจกรรมสร้างสังคมการเรียนรู้… พร้อมกับรัฐเข้ามาเป็นเจ้าภาพนำและรวมพลังสังคมที่ก่อตัวขึ้น ตั้ง "ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต" ทุกจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการสร้างสังคมเรียนรู้  เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร สัมมนา อบรม และเป็นที่ตั้งห้องสมุดและศูนย์คอมพิวเตอร์สาธารณะ ทำให้ "การอยากรู้ อยากโต" กลายเป็นวาระแห่งชาติ
 
ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมานี้ จริงๆ ต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งจึงจะผลักดันได้อย่างมีพลัง น่าเสียดาย เราไม่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ผมก็หวังว่าถ้ารัฐบาลพยายามเดินไปในแนวทางนี้ โดยสร้างโครงการ ดึงพลังทั้งจากสื่อและเอ็นจีโอ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเอกชนที่เกียวข้องกับการสร้างสังคมแห่งความรู้ ถึงจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็จะเห็นว่าเรามี "Vision ประเทศไทย" ที่ไปพ้นจากสีเสื้อ เป็น "วาระแห่งชาติ" ที่แท้จริง
 
คำว่า "วาระแห่งชาติ" จะเป็นจริงได้ ต้องมีเรื่องเดียวครับ ไม่ได้หมายความว่าทำแค่เรื่องเดียว แต่ทำทีละเรื่อง เหมือนกับที่เบนจามิน แฟลงคลิน สอนว่าแก้ไขนิสัยของตัวเองเดือนละเรื่องก็พอ เสร็จแล้วค่อยไปแก้ไขนิสัยข้อต่อไป จะได้โฟกัสพลังได้… ถ้าพลังน้อย คนเชื่อน้อย แรงน้อย ไปไหนไม่ได้ครับ… ทำเรื่องเดียวให้ดังๆ ให้ใหญ่ๆ โตๆ ได้ไหม ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ แก้ไขระบบต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางไป
 
ผมคิดว่าจะขอฝากประเด็นเหล่านี้ไว้ให้ท่านทั้งหลายที่เป็นคนเสื้อสีที่มีสาระช่วยกันคิด และถกเถียง ดีกว่าที่จะถูกคนอื่นหลอกใช้ความตั้งใจที่ดีงามของท่านทั้งหลาย
 
ไปให้พ้นจากเรื่อง การต่อสู้ระหว่างอำมาตย์และไพร่ (โดยจะล้มโต๊ะท่าเดียว) และเรื่องสงครามปราบมาร (โดยจะล้มโต๊ะท่าเดียว) กันเสียที
 
ขึ้นไปยืนบนโต๊ะ และมองไปไกลๆ กว้างๆ ก็จะเห็นโลกที่มีมากกว่าสองสี และทางออกที่มีมากกว่าสองทาง
โพสท์ใน การเมือง | 4 ความเห็น

Avatar กับปัญหาเรื่องหัวใจ

หัวใจกับสมอง เราใช้อะไรมากกว่ากัน?
 
การใช้หัวใจเป็นความงามที่แท้? การใช้สมองเป็นของเติมแต่ง? ผมเคยได้ยินใครเขาบอกว่า ในเรื่องความรัก จงใช้หัวใจให้มาก สมองให้น้อย
 
แล้วในเรื่องอื่นๆ เล่า?
 
รู้ไหมครับว่าผมแอบคิดว่าเหตุผลจริงๆ ของการเลือกข้างในหนังเรื่อง Avatar คืออะไร? มนุษย์ vs  คนต่างดาว? ธุรกิจ vs สิ่งแวดล้อม? วัฒนธรรมทุนนิยม vs วัฒนธรรมดั้งเดิม? การดัดแปลงโลก vs การอยู่อย่างธรรมชาติ?
 
ผิดครับ ผิดหมด ข้างต้นล้วนแต่เป็นการแปะฉลากแบ่งข้างโดยใช้ "สมอง" คิด แต่เอาจริงๆ สมองไม่ได้มีบทบาทในการ "เลือก" ของคนเรามากขนาดนั้นหรอก
 
การเลือกข้างจริงๆ ในหนังเรื่อง Avatar ก็คือ การเลือกระหว่าง โลกที่คุณอยู่บนรถเข็น vs โลกที่คุณสามารถวิ่งและเหาะเหิน โลกที่คุณเป็นตัวทดลอง vs โลกที่คุณเป็นฮีโร่ และที่สำคัญกว่านั้น โลกหนึ่งที่หนาว vs อีกโลกที่อบอุ่น…ด้วยไอรัก
 
ผมไม่ได้พูดเล่นนะครับ ผมว่าถ้าในยานอวกาศลำใหญ่นั้น พระเอกของเรามีผู้หญิงน่ารักๆ คอยเป็นกำลังใจให้ เขาคงไม่ลืมหรอกว่าโลกไหนคือความจริง โลกไหนคือความฝัน…เอ… หรือว่า ความรักที่แท้เดี๋ยวนี้มีได้อยู่แต่ในความฝันเท่านั้น? กับมนุษย์ต่างดาวที่บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา?
 
วันหนึ่งพระเอกของเรา "รู้สึก" ว่าเขา belong ในหมู่มนุษย์ต่างดาวมากกว่าในหมู่พวกคนกันเอง รู้สึกว่าเขามี "ที่" อยู่ที่นั่น และเป็น "ที่" ที่เขาสบายใจสบายกายมากกว่า
 
เขาไม่ได้นั่ง "คิด" หรอกว่า ไอ้แร่ที่อยู่ใต้ดินจะช่วยไรโลกมนุษย์ได้ เมื่อเทียบกับการถอนต้นไม้ใหญ่ในโลกต่างดาว (คิดแล้ว อาจได้ข้อสรุปว่าไม่คุ้มกันก็ได้ ผมไม่รู้ แต่ผมแค่จะพยายามชี้ว่าพระเอกไม่ได้แม้แต่จะนั่งคิดกันจริงๆ จังๆ) เหมือนอย่างป้า Grace ในเรื่อง เธอก็ทิ้งความเป็นนัก "วิทยาศาสตร์" ในท้ายที่สุด เพราะลึกลงไป คนเรา "งมงาย" กันทั้งนั้นแหละ ต่างก็อยู่ด้วยหัวใจ ไม่ใช่สมอง
 
สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการฆ่าพวกเดียวกันเอง? หรือว่า นั่นไม่ใช่พวกฉัน เพราะว่าฉันได้แปลงร่างไปแล้ว? แปลงสี?
 
ผมเห็นคนอยู่ข้างเหลือง ข้างแดง เพราะพวกพ้อง เพราะคนรัก เพราะมี "ที่" อยู่ตรงนั้น เพราะอุดมการณ์งมงายที่ทำให้หัวใจเต้นเร้า ครับ เพราะนี่เป็นสังคมที่เราใช้ "หัวใจ" กันมากจริงๆ ส่วน "สมอง" น่ะรึ– ผมไม่แน่ใจ
 
ผมยังงงๆ อยู่เลยว่า สังคมที่เจริญแล้วควรอยู่ด้วย "หัวใจ" หรือ "สมอง" กันแน่? หรือว่า เป็นสังคมที่รู้จัก balance ระหว่างของทั้งสองอย่างดี?
 
หนังเรื่อง Avatar ก็เหมือนหนังหลายๆ เรื่อง ซึ่งสะท้อนเรื่องของคุณค่า (value) แร่ธาตุใต้ต้นไม้ใหญ่นั้นก็มีค่า วัฒนธรรมโบราณก็มีค่า แล้วเราควรวัดค่าต่างๆอย่างไร? ด้วย "สมอง" หรือ ด้วย "หัวใจ"?
 
ผม "คิด" และ "รู้สึก" ว่า สำคัญทั้งสองอย่างนะครับ
โพสท์ใน ภาพยนตร์ | 2 ความเห็น

ปีใหม่ 2553

โพสท์ใน ปีใหม่ | 1 ความเห็น

เฮ็ง ซวย

วันนี้ผมตื่นเช้าครับ ลุกขึ้นมาบิดขี้เกียจ หลังจากอาบน้ำอุ่นอย่างสบายตัวแล้ว มีเพื่อนโทรมาบอกจะเลี้ยงหูฉลาม เดินออกมาได้รับแจกคูปองทานเป็ดปักกิ่งฟรี พอออกจากประตูหอก็มีรถแท็กซี่มารอรับ ขึ้นแท็กซี่ก็มีโทรศัพท์มาแจ้งว่าผมถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง
 
ถึงผมจะเป็นคนมีบุญ แต่โชคดีอย่างนี้ดูจะมากไปหน่อยรึเปล่า ถูกต้องครับ มากไปครับ… ผมล้อเล่น  
 
ผมก็ฝันหวานไปอย่างนั้นแหละ แต่ถ้าโลกแห่งความเป็นจริงมีแต่โชคดี "ทุกวัน ทุกคืน รื่นรมย์ให้สมฤทัย" คงดีเนอะ
 
เคยได้ยินนิทานเรื่อง "ตาแก่ม้าหาย" ของลัทธิเต๋าไหมครับ —นิทานที่ว่ากันถึงแก่นรากของเต๋า ซึ่งมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิธีคิดของคนจีนทั้งหลาย
 
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีตาแก่คนหนึ่งพักอาศัยอยู่บนเขากับลูกชาย เช้าวันหนึ่งตาแก่ตื่นขึ้นมา พบว่าม้าที่มีอยู่เพียงตัวเดียวหายไปจากคอก อาซ้อเพื่อนบ้านทราบข่าวรีบมาเยี่ยมเยียนฉันมิตรแท้ "ทำไมลื๊อถึงโชคร้ายจัง หัดไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ซะมั่ง" อาซ้อแนะนำ ตาแก่มองหน้าอาซ้อ ตอบไปอย่างไม่ไยดีว่า "ลื๊อรู้ได้ไงว่านี่เป็นโชคร้าย"……
 
วันรุ่งขึ้น ม้ากลับมาเอง พร้อมกับพาเพื่อนๆ มาอีกเป็นฝูง ตาแก่คืนเดียวมีม้าเพิ่มหกตัว  อาซ้อเพื่อนบ้านรีบหอบกระเช้ามาแสดงความยินดี "โอ ตาแก่ ลื๊อนี่แล่จริงๆ บอกว่าไม่ใช่โชคร้าย ก็กลายเป็นโชคดี โชคลีจริงๆๆ" ตาแก่มองหน้า ตอบอาซ้ออย่างปราศจากน้ำใจว่า "ก็แล้วลื๊อแน่ใจได้ไงว่านี่เป็นโชคดี"
 
ก็เพราะพอมีม้าตั้งเจ็ดตัว ลูกชายตาแก่เลยขี่ม้าเล่นทุกวันไม่สนใจการงาน จนวันหนึ่งขี่เล่นด้วยความคะนอง ตกม้าขาหัก อาซ้อเพื่อนบ้านได้ข่าวรีบหอบกระเช้ามาปลอบใจ "โถ ตาแก่ ลื๊อนี่แม่นจริงๆ บอกโชคร้ายก็โชคร้าย ซวยเจงๆๆ" ตาแก่มองหน้า ถามกลับว่า "ก็แล้วลื๊อแน่ใจรึว่าอั๊วซวย"
 
เวลาผ่านไปสองอาทิตย์ ทางการมีประกาศเกณฑ์ทหารไปสู้รบ… ลูกชายตาแก่เป็นชายหนุ่มคนเดียวในหมู่บ้านที่นอนพักขาอยู่ที่บ้านสบายๆ ไม่ต้องลุกไปจับอาวุธ
 
ในบรรดาปรัชญาสามสายของจีน—เต๋า ขงจื๊อ พุทธ (แบบจีน) นั้น สำหรับผม ปรัชญาเต๋าเข้าใจยากที่สุด และ "คิดต่าง" ที่สุด ที่ว่าคิดต่าง เพราะเต๋าจะสอนอะไรในทางตรงกันข้ามกับความเชื่อทั่วไป โลกสอนให้เราเข้มแข็ง เต๋าบอกว่าฟันแข็ง ลิ้นอ่อน หินแข็ง น้ำอ่อน– แล้วสุดท้ายใครแน่? โลกสอนให้เราพยายามปีนไปให้สูง เต๋าบอกน้ำไหลลงที่ต่ำ แล้วไม่เชื่อรึ—ยิ่งสูง ยิ่งหนาว  
 
โลกบอกว่า มีสิ่งที่เรียกว่าโชคดี และโชคร้าย แต่ตาแก่ถามหน้าตายว่า "ลื๊อแน่ใจได้ไงว่านี่เฮ็ง" "ลื้อแน่ใจได้ไงว่านี่ซวย"
 
ถ้าใครมาต่อยคุณ แล้วคุณรู้สึกได้ว่ามันมีโชคดีในรอยช้ำ เมื่อนั้นแหละ คุณย่อมพบศานติในเรือนใจ
 
สำหรับเต๋า คนฉลาดคือคนที่เมื่อใครๆ บอกว่าลื๊อเฮ็ง ตัวเขากลับไม่แน่ใจว่าตนเฮ็งจริง และยิ่งกว่านั้น–เมื่อใครๆ บอกว่าลื๊อซวย เขากลับไม่แน่ใจว่าตนซวยจริง ขณะที่คนโง่นั้น จะเชื่อว่าไอ้อย่างนี้เฮ็ง ไอ้อย่างนี้ซวย เส้นแบ่งมันชัดเจน แน่นอน
 
เส้นแบ่งเฮ็ง – ซวยคงจะชัดแจ๋วจริงสำหรับคนโง่ และคงจะเบลอๆ สำหรับคนฉลาด ถ้าคุณเชื่อว่ามีเฮ็ง มีซวย สุดท้ายคงเฮ็งซวยแน่ แต่ถ้าคุณคิดว่าโลกนี้ไม่มีเฮ็ง ไม่มีซวย จะทำอย่างไรก็คงไม่เฮ็งซวยสักที
 
อะไรคือภูมิปัญญาของคนจีน คำตอบก็คือ คนจีนเป็นคนที่หัว "ลื่น" ที่สุด คือลื่นไหล เข้าใจพลิกแพลง การมองโลกของคนจีนเป็นการมองแบบในขาวมีดำ ในดำมีขาว ไม่ใช่แบบขาว -ดำ
 
จริงๆ นี่ก็คงไม่ใช่ภูมิปัญญาที่คนจีนผูกขาดหรอก เพราะไม่ว่าคนชาติไหนจะเบ่งตาดู ก็คงจะพอเข้าใจความจริงข้อนี้ได้ เมื่อโชคดี-โชคร้ายล้วนไม่มีอะไรแน่นอน วิธีเผชิญกับโลก–และโรค (ทั้งกายและใจ)– ที่ดีที่สุด ก็คือทำตามที่นักเปียโนชาวฝรั่ง Arthur Rubinstein ได้สรุปไว้อย่างงดงามว่า "ผมยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะชีวิตเป็นสิ่งที่งดงามมาก—งดงามจนคุณควรมีความสุขในทุกกาล หลายคนต้องการมีความสุขเฉพาะในเวลาที่โชคดี แต่แท้ที่จริงแล้วคุณจะมีความสุขได้ ก็ต่อเมื่อคุณไม่ตั้งเงื่อนไขว่าอะไรดี อะไรร้าย"
 
ครับ เต๋าชอบคำพูดทำนองนี้… ในด้อยมีเด่น ในขาดมีเต็ม ในโค้งมีตรง ในทื่อมีคม
 
ในร้ายมีดี
โพสท์ใน Uncategorized | 2 ความเห็น

นึกว่าผู้กำกับจะเห็นแวว

บางทีเวลาคนเราซึมเศร้า คนเราก็ต้องการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นจากภาพเขียน ทิวทัศน์ หรือหนัง
 
หนัง—ใช่ครับ ผมหมายถึงภาพยนตร์ มันก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เป็นวิธีที่คนถ่ายทอดความดี ความงาม ความจริง และความหวังในยามมืดมน
 
ผมอาจเรียนผิดสาย น่าจะเข้าท่ากว่า ถ้าไปเรียนเป็นผู้กำกับหนัง ผมเคยคิดเหมือนกันนะ แม้คนรอบข้างจะไม่เคยมีใครเห็นดีเห็นงามด้วย (แม้แต่คนเดียว) แต่ผมก็แอบคิด (คนเดียว)ว่าผมก็หัวศิลป์นะ
 
อย่างน้อยเวลาดูหนัง ผมก็พอรู้สึกได้ว่ามันขาด มันเกิน มันแรง หรืออ่อนไป
 
เมื่อวันก่อน ผมได้รับโทรศัพท์จากพี่ที่สถานทูตขอให้ช่วยไปเป็นล่ามที่ชิงเต่า ต้องบินไป ค้างหนึ่งคืน ซึ่งงานอะไรที่เริ่มเข้าทางค่ายลูกเสือพักแรม (หมายถึงต้องค้างคืน) ผมมักไม่ค่อยรับทำ มักจะหาข้ออ้างไปเรื่อย แต่หลังจากที่ได้ทราบว่าหน้าที่คือเป็นล่ามให้กับผู้กำกับหนังไทย ซึ่งจะมาร่วมงานเทศกาลหนังเยาวชนของเมืองจีน ผมก็ตอบตกลงทันที
 
ไม่รู้ผมคิดอะไร แต่ความรู้สึกเหมือนตอนเด็กๆ อยากไปเจอฮีโร่ ผมชอบหนัง ผมอยากได้รู้จัก ได้สัมผัส ได้พูดคุยกับผู้กำกับหนัง คนพวกนี้ต้องเป็นอาร์ตติสมากๆ
 
แล้วก็ ในเวลาที่ขาดแรงบันดาลใจเช่นช่วงฤดูนี้ อยู่ใกล้ๆ อาร์ตติสน่าจะช่วยไรตูได้มั่ง
 
ผมบินไปชิงเต่า โดยที่ไม่มีจ๊อบเดสคริปชั่นที่ชัดเจน คือเอาผมใส่เครื่องบินไปทำไรกันแน่ บ่ฮู้ คือโอเค เอาผมไปแปล แต่แปลอะไร แปลสุนทรพจน์ แปลหนัง หรือแปลเช้าชามเย็นชาม (หมายถึงแปลว่าพี่จะกินอะไรวันๆ ) แปลอันหยังกันแน่
 
ไปถึงบ่ายกว่าแล้ว ทางโน้นยังไม่รู้เลยว่ามีล่ามมาช่วยฝ่ายไทย พี่ผู้กำกับคนไทยก็บ่ฮู้ ทีมงานต้อนรับหน้าตึกก็ไม่เคยได้ยิน กว่าจะตามหาตัวคนที่เรียกผมมาได้ ผมเกือบจะประชดนั่งแท็กซี่กลับสนามบินแล้ว
 
แต่นับจากนั้น ก็เป็นช่วงเวลาประทับใจ (นอกจากห้องพักหรูสี่ดาวที่ทางผู้จัดงานเปิดให้) 
 
เริ่มจากเขาบอกว่าอีกสิบนาทีต่อจากนี้ ผู้กำกับไทยจะพูดสุนทรพจน์ในที่ประชุมผู้กำกับหนังเยาวชน
 
อ๋อ ผมลืมเล่าไป ผมก็เพิ่งรู้ตอนนี้แหละว่า หนังที่ผมต้องมาช่วยแปล คือหนังเรื่อง มะหมา สี่ขาครับ ผู้กำกับก็คือพี่สมเกียรติ วิทุรานิช ซึ่งพี่เขาเองก็งงๆ ว่าต้องพูดสุนทรพจน์ด้วยหรือ
 
หนังเรื่องนี้เป็นหนังว่าด้วยหมา และหมา (ครับ ขอโทษจริงๆ จนบัดนี้ กระผมก็ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ) พี่สมเกียรติเล่าให้ที่ประชุมฟังถึงแรงบันดาลใจ ซึ่งมีสี่ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน
 
หนึ่งก็คือ เพราะทุกคนบอกว่าคนไทยทำหนังหมาไม่ได้ (หนังครับ ไม่ใช่การ์ตูนแอนนิเมชั่น หนังที่ใช้หมาเป็นๆ แสดงทั้งเรื่่อง) พี่เขาจึงเกิดแรงฮึด—เอ แต่ทำไมคนปรามาสผมช่วงหลังๆ ผมฮึดบ่ขึ้นเลยหนอ
 
สองก็คือ พระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า ทำไมหมาตำรวจจึงต้องใช้หมาฝรั่งเล่า ทำไมไม่คิดที่จะฝึกหมาไทยบ้าง (หนังเรื่องนี้ใช้หมาไทยครับ แถมส่วนใหญ่เป็นหมาจรจัด)
 
สามก็คือ ประสบการณ์ส่วนตัวของพี่สมเกียรติเอง ซึ่งพี่เขาเล่าอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกก็คือตอนเด็กๆ พี่เขาเคยเห็นหมากำลังจะข้ามถนน ข้ามได้ครึ่งทาง รถเต็มไปหมด ข้ามไม่ได้ เขารู้สึกสงสารมาก (ครับ ผมฟังแล้วไม่ค่อยเข้าใจ ว่าแล้วไง แต่ถ้าคุณได้ดูหนังเรื่องนี้ คุณจะซึ้งขึ้นมาทันที ถ้ารู้จุดนี้)
 
เรื่องที่สองก็คือ ตอนเด็กๆ พี่เขาเลี้ยงหมา แล้วมีคนไปวางยาพิษมัน (เหมือนเดิมครับ ไม่รู้สึกรู้สาอะไร จนกว่าจะได้ดูหนังจริง) แล้วคืนก่อนหน้าที่มันจะตาย มันเข้ามาเคาะห้องนอนพี่เขา แต่พี่เขาคิดว่ามันอยากจะมานอนด้วย เลยไม่ยอมเปิดประตูให้ (พูดถึงตรงนี้ เสียงพี่เขาเหมือนจะร้องไห้เลย)
 
สี่ก็คือ ความรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้สังคมเราทอดทิ้งคนเฒ่าคนแก่กันมากขึ้น (ผมยิ่งงง มันเกี่ยวอะไรกับหมา แต่ครับ—จนกว่าจะได้ดูหนังจริง)
 
หลังจากนั้น ประมาณหนึ่งทุ่ม เป็นงานเลี้ยง ซึ่งในเวลาเดียวกัน ที่โรงหนังใหญ่ในชิงเต่าจะมีฉายหนังเรื่่องนี้ ซักสองทุ่มกว่าฉายเสร็จจะมีรายการคนดูพบผู้กำกับ พี่สมเกียรติอยู่ในงานเลี้ยงได้สักพัก จึงขอตัวออกจากงาน โดยยืนยันว่าอยากไปดูปฏิกิริยาคนดูก่อนจะถึงรายการคนดูพบผู้กำกับ
 
เราไปถึงโรงหนัง ตอนฉายได้สักครึ่งเรื่อง ผมก็เลยได้ดูเท่าที่เหลือล่ะครับ— แต่นั่นก็เพียงพอนะ ที่จะทำให้ผมเสียน้ำตาในโรง
 
ส่วนหนึ่ง เพราะผมว่าผมได้สัมผัสกับพี่สมเกียรติมา ได้ฟังเรื่องราวจากพี่เขา พอมาดู ถึงรู้สึกได้เลยถึงหยาดเหงื่อ แรงงาน และแรงใจที่พี่เขาใส่เข้าไป โดยเฉพาะในนั้น มีประสบการณ์และความรู้สึกจริงๆ ที่เข้มข้นของพี่เขาผสมอยู่
 
โอเคว่าบางตอน หนังมันมีส่วนเกินไปบ้าง (ตัดออกได้บางฉาก) แต่โดยรวมแล้ว หนังเรื่องนี้ยอดเยี่ยมมากในเรื่องการคิดฉาก ถ่ายภาพ จับภาพ ความคิดสร้างสรรค์อันมหาศาล และอารมณ์ขันแบบไทยๆ 
 
ก็อย่างนกแก้วสองตัว คิดได้ไง หมาป่วยต้องค่อยๆ กลิ้งตัวขึ้นรถเข็น คิดได้?… การใช้รถเข็นเป็นสื่อ นี่มันอุปมาโวหารยิ่งกว่าในพระอภัยมณีเสียอีก…
 
และแล้วก็ถึงเวลาพบคนดู (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก) ก่อนอื่นพิธีกรให้เด็กๆ บอกพี่สมเกียรติว่าเขาได้อะไรจากหนัง ซึ่งส่วนใหญ่พูดถึงความสามัคคี มิตรภาพ รักแท้ 
 
พอถึงช่วงให้ถาม คำถามของเด็กๆ นี่บริสุทธิ์จริงๆ นะครับ ผมฟังคำถามแล้ว ซาบซึ้งมากเลย
 
คำถามที่เด็กๆ ถามกันมากก็คือ หมาที่บาดเจ็บในเรื่องเจ็บจริงไหมฮับ ผมสงสัยว่าผู้ใหญ่จะห่วงใยหมาในหนังอย่างนี้บ้างไหมนะ
 
อีกคำถามหนึ่งที่ผมฟังแล้วตกใจ ก็คือ เด็กชายคนหนึ่งถามว่า มีหมาตัวหนึ่งในเรื่อง ซึ่งหมาตัวอื่นๆ เกลียดมัน แต่ทำไมมันถึงยังพยายามจะช่วยหมาตัวอื่นๆ เหล่านั้น
 
ผมคิดในใจ ท่านผู้กำกับจะตอบว่าไรนี่
 
พี่สมเกียรติบอกว่า ให้แปลบอกน้องเขาไปว่า "เพราะว่าเพื่อนไม่ทิ้งกัน"
 
พี่สมเกียรติบอกผมหลังไมค์ว่าแค่ได้ฟังที่เด็กๆ พูด ก็ปลื้มใจมากแล้ว เพราะน้องๆ เก็บสิ่งที่เขาอยากจะสื่่อออกมาได้หมด
 
ส่วนผมก็ปลื้มใจแทน หนังนี่ก็เหมือนหนังสือนะ คุณเขียนเสร็จแล้ว มันก็ทิ้งไว้นิ่งอย่างนั้น รอให้คนมาสัมผัส มาพิสูจน์
 
หลังไมค์ ผมถามพี่สมเกียรติเป็นการส่วนตัวอีกสองคำถาม อย่างแรกคือพี่ทั้งเขียนบทเอง กำกับเองเลยหรือ พี่เขาบอกว่า เดิมที่ตั้งใจจะเขียนบทอย่างเดียว พอเขียนเสร็จแล้วเอาไปให้ผู้กำกับดู ผู้กำกับบอกทำไม่ได้หรอก บทคุณเขียนอย่างนี้ พี่สมเกียรติบอกว่า ผมทำได้ ผู้กำกับเลยบอกว่า งั้นคุณก็ทำสิ 
 
คำถามที่สอง ผมถามเพราะอยากรู้จริงๆ ว่า พี่เคยท้อบ้างไหม แบบว่าไม่อยากทำแล้ว หรือกลัวจะทำไม่เสร็จ
 
คำตอบที่ได้ก็คือ "ไอ้เรื่องกลัวจะทำไม่เสร็จ นี่ตลอดเวลาที่ถ่ายเลยนะ เพราะหมาไทย โดยเฉพาะหมาจรจัดที่เราใช้ แต่ละตัวมีเอกลักษณ์มาก ไม่เหมือนหมาฝรั่งที่เป็นหมาพันธุ์เดียวกัน ตัวหนึ่งตาย ก็เอาตัวใหม่มาแทนได้ หมาจรจัดเราส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ผสม แทนกันไม่ได้ พี่กลัวหมาจะเป็นอะไรมาก เพราะถ้าตัวหนึ่งตายหรือล้มป่วยไป หนังจะถ่ายต่อไม่ได้เลย"
 
พี่สมเกียรติเลี่ยงไม่ตอบคำถามของผมที่ว่า พี่เคยท้อไหม
 
ผมก็ไม่ได้ถามซ้ำ เพราะผมคิดว่าผมพอเดาได้
 
ก็ถ้าหมาจรจัดมันยังไม่ท้อ แล้วคนเราจะท้อได้อย่างไร
 
ยิ่งโดยเฉพาะอาร์ตติสแล้ว หน้าที่คือการสร้างสรรค์ มีแต่ท้อชั่วคราว แต่ไม่มีท้อถาวรหรอก
 
โพสท์ใน Uncategorized | 1 ความเห็น

ความหลากหลายของความสำเร็จ

ผมจำได้ว่าเมื่อคุณทักษิณยังเป็นนายกฯ อยู่นั้น เคยมีการทำโพลวันเด็ก ถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ผลปรากฎว่า มากกว่าหกสิบเปอร์เซนต์ตอบว่าอยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
 
จำได้ว่ารายงานข่าวชิ้นนั้น ตามมาด้วยความเห็นของนักวิชาการ (บ้างไว้หน่วยเครา บ้างใส่หมวกแก๊ป) ที่เรียงแถวออกมาตัดพ้อว่าสังคมเรากลายเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญของ "เงิน" เสียแล้ว
 
ผมไม่เห็นว่า "เงิน" เป็นปีศาจ และไม่เห็นว่าการคิดว่า "เงิน" = "ความสำเร็จ" นั้นผิดตรงไหน 
 
แต่ดูเหมือนเด็กจำนวนมากที่ตอบแบบสำรวจนั้น จะเห็น  "ความสำเร็จ"  = "เงิน" (แต่เพียงอย่างเดียว) และความคับแคบของความหมายของความสำเร็จเช่นนี้ ทำให้ผมเสียใจและกังวล
 
นักเรียนที่ประสบความสำเร็จคือนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งในห้อง ใช่ไหม? ทำไมเราไม่เห็นว่านักเรียนที่เล่นกีฬาเก่ง วาดรูปเก่ง แต่งกลอนเก่ง โต้วาทีเก่ง เขาประสบความสำเร็จบ้าง?
 
แน่นอน ความสำเร็จต้องมี "มาตรวัด" แต่เราควรยอมรับว่า "เงิน" หรือ "ผลคะแนน" ไม่ใช่มาตรวัดที่ผูกขาด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะขาดแหล่งพลังในการสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก
 
สังคมอเมริการุ่งโรจน์ขึ้นมาได้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากกระแส individualism ในสังคม ที่ทำให้คนเรากล้าเป็นตัวของตัวเอง มองเห็นความหลากหลายของความสำเร็จ เห็นว่าความสำเร็จไม่ได้มีทางเดียว
 
แล้วสังคมอเมริกาก็เริ่มพังเมื่อความหมายของ "ความสำเร็จ" แคบลง เหลือเพียงบิลเกตและวอลสตรีท
 
เพื่่อนผมคนหนึ่งเคยพูดกับผมตอนมัธยมว่า ไม่ใช่คนเรียนเก่งจะประสบความสำเร็จเสมอไปนะอาร์ม ดูสิ คนเรียนเก่งหลายคนสุดท้ายก็เป็นได้แค่อาจารย์มหาลัย ขณะที่มหาเศรษฐีหลายคนเรียนได้ที่โหล่ของชั้น
 
คำพูดของเพื่อนผมคนนี้น่ารัก เพราะแกพยายามจะปฏิเสธมาตรวัดที่ใช้ "คะแนน" มาตัดสินความสำเร็จในชีวิตนักเรียน แต่สุดท้ายก็ยังตกลงไปในหลุมดำของการใช้ "เงิน" มาเป็นมาตรวัดอีกจนได้
 
ขอเพียงไม่หลับหูหลับตา ก็จะพบว่าโลกนี้มันช่างหลากหลายสีสันเหลือเกิน และมีตัวอย่างดีๆ ให้เราเดินตามมากมาย แต่ถ้าตัวอย่างที่เด็กมองเห็นมีเพียงคุณทักษิณ เพียงเพราะเป็นนายกฯ (ชื่อตำแหน่ง) เพราะข่าวหน้าหนึ่ง (ความดัง) เพียงเพราะติดอันดับคนรวยที่สุดในไทย (จำนวนเงิน) แล้วอะไรจะเกิดขึ้น
 
คำตอบ– คนเราจะหลงทางกันโดยไม่รู้ว่าตนหลงทาง ดังที่เป็นกันอยู่
 
จริงๆ เปลือกนอกมันก็คือเปลือกนอก สุดท้าย คุณก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณเป็นคนอย่างไร
 
ความหมายของความสำเร็จ ถ้าจะมี คงอยู่ตรงที่ว่าเมื่อคุณเผชิญหน้ากับตัวเอง โดยเลิกหลอกตัวเอง คุณเห็นอะไร
 
แต่ก่อนหน้าที่จะเห็นตัวเองนั้น เราต้องการคนอื่น ในมงคลสูตร "บูชาบุคคลที่ควรบูชา" ท่านว่าเป็นอุดมมงคล เพราะอะไรครับ เพราะคนเราต้องการตัวอย่าง–และคนเราต้องการตัวอย่างที่หลากหลาย รู้ว่าเราทุกคนไม่จำเป็นต้องมีที่ทางเดียวกัน เราต่างคนต่างมีที่ทางของตน
 
ความสำเร็จจึงไม่ใช่ที่ใดที่หนึ่งที่เดียวที่คนหกสิบเปอร์เซนต์ตอบกับเอแบคโพล แต่เป็นที่ใดก็ได้ ที่คุณมีความสุข มีผลงาน และมีคุณค่าตอบกับตัวเองได้  
 
ผมจึงเคยคิดฝันว่าบางที รายการโทรทัศน์ที่เมืองไทยตอนนี้น่าจะมีมากที่สุด ก็คือรายการสารคดีชีวิตบุคคล ที่เล่าเรื่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในสาขาวิชาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ หมอ สถาปนิก นักกีฬา นักดนตรี ศิลปิน ฯลฯ ยกย่องเขาเพราะเขารักในงานที่ทำ และได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่โลก สื่อควรเริ่มต้นเสียที เริ่มต้นอธิบายความหมายของความสำเร็จในมิติใหม่ ในมิติที่หลากหลายกว่าเดิม 
 
มีสักกี่คนในสังคมเรา ที่กล้าย่ำทางของตัวเอง และในป่ารกทึบนั้น มีเพียงการย่ำไปในทิศทางที่ไม่ใช่ทางกว้าง (อยู่แล้ว) และทางเดิม (ที่ใครๆ ก็เดิน) เท่านั้น จึงจะเกิดทาง (เลือก) ใหม่ๆ ขึ้นได้
 
และในเวลานี้ ใครกล้าปฏิเสธว่า สังคมเราตีบตัน และต้องการทางเลือกมากแค่ไหน 
โพสท์ใน ชีวิต | ใส่ความเห็น

เส้นทางมีหลายทาง

ช่วงนี้กำลังอ่านหนังสือวิธีวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์หลินอีฟูอยู่ หลินอีฟูเป็นอาจารย์ที่ดังที่สุดในเป่ยต้า แล้วก็เป็นคนที่น่าทึ่งมาก เขาจะเป็นคนที่ยิ้มอยู่ตลอด
 
ชีวิตเขาเป็นชีวิตที่น่าพิสดาร เขาเป็นคนไต้หวัน เคยเป็นทหารเกณฑ์ที่ไต้หวัน แต่ตั้งแต่เด็ก เขาชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือโบราณ แล้วก็รักชาติจีนมาก อยากทำอะไรบางอย่างให้ชาติ เขาคิดว่าชนชาติจีนจะกลับมาเจริญได้ แผ่นดินใหญ่ต้องฟื้นขึ้นมา
 
อายุยี่สิบกว่าๆ เขาเลยตัดสินใจ ทิ้งลูก ทิ้งเมีย ว่ายน้ำข้ามทะเลมาที่แผ่นดินใหญ่ (สมัยนั้นว่ายน้ำข้ามทะเลกันจริงๆ)
 
หลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อแซ่ เริ่มต้นชีวิตใหม่ มาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ของ ม.ปักกิ่ง ซึ่งตอนนั้นมีแต่สอนเศรษฐศาสตร์มาร์กซิส ปรากฎว่าวันหนึ่งมีอาจารย์จาก ม.ชิคาโก มาบรรยายที่เป่ยต้า ต้องการคนแปล เขาได้รับเลือกให้เป็นคนแปล ปรากฎว่าอาจารย์ท่านนี้ชอบใจหลินมาก เสนอให้ทุนเด็กคนนี้ให้ไปเรียนต่อที่ ม. ชิคาโก
 
หลินไปเรียนที่ ม.ชิคาโก (ตอนนี้ติดต่อกับเมียและลูกที่ไต้หวันให้ไปเจอกันที่อเมริกา) เรียนจนได้ปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นคนจีนคนแรกในยุคนั้นที่ได้ปริญญาเอกด้านนี้ ตอนนั้นหลายๆ ม. ในอเมริกาขอให้เขาไปสอน เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของหลินเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบล และวิทยานิพนธ์ของหลินมีคุณภาพสูงมาก แต่หลินปฏิเสธ เขาตัดสินใจกลับมาจีน
 
ซึ่งดูเหมือนไม่มีเหตุผล เพราะตอนนั้นไม่มีอินเตอร์เนต การค้นหาเอกสารทางวิชาการต่างๆ หาลำบากมากที่จีน ถ้าคุณกลับมา เหมือนคุณตัดขาดจากโลกวิชาการเลย ยังไม่รวมว่าเงินเดือนนั้นน้อยนิด แต่คนที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ต้องเป็นคนที่มองอะไรกว้างและไกลกว่าคนอื่น และสัมผัสอะไรด้วยหัวใจมากกว่าสายตาเฉพาะหน้า หลินไม่คิดว่านั่นเป็นที่ของเขา และหลินคิดว่าสิ่งสำคัญคือคุณวิจัยอะไร เขาต้องการวิจัยสังคมจีน ไม่ใช่สังคมอเมริกา หลินจึงตัดสินใจกลับมา
 
หลินเข้าทำงานกับรัฐบาล อยู่ฝ่ายวิจัยของสำนักพัฒนาชนบท หลังจากทำงานได้เจ็ดปี ก็ขอย้ายมาสอนที่เป่ยต้า 
 
ปัจจุบัน หลินได้รับเชิญให้ไปเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก เป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ และว่ากันว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์จีนในรุ่นนี้คนเดียว ที่อาจมีโอกาสได้รับรางวัลโนเบล
 
แต่เพราะอะไร หลินถึงประสบความสำเร็จทางวิชาการมากขนาดนี้เล่า
 
หลินบอกว่า เขาไปเรียนที่ชิคาโก แต่เขาไม่ได้เรียนแต่ทฤษฎีต่างๆ มาอย่างเดียว เขายังเรียน "วิธี" สร้างทฤษฎีมาด้วย
 
ถ้าหากใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด มาอธิบายปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจของจีน จะพบว่ามึนงงมาก เพราะจีนไม่ได้ทำอะไรตามที่ควรจะทำ จีนไม่ได้มีตลาดเสรี ไม่มีระบบกฎหมายที่พร้อม ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มี… และ ไม่มี… ฯลฯ 
 
แต่ถนนไปสู่ความเจริญมีหลายทาง ไม่ได้มีทางเดียว เหมือนกับคน ถนนไปสู่ความสุขมีหลายทาง แต่เหตุผลง่ายๆ นี้…เป็นสิ่งที่คนเราลืมกันบ่อยๆ
 
คนๆ หนึ่งทำแบบหนึ่งแล้วรวยขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องทำแบบนี้เท่านั้น จึงจะรวยขึ้นมาได้ ถ้าทำผิดไปจากนี้ จะพัง คนอื่นก็อาจรวยขึ้นมาได้ด้วยวิธีอื่น สิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์มากก็คือ การไม่ติดว่าวิธีรวยขึ้นมานั้นมีเพียงวิธีเดียว คุณต้องใจกว้าง ตากว้าง และพยายามอธิบาย "เหตุผล" เบื้องหลังของแต่ละวิธี
 
ถ้าคุณใช้วิธีที่อเมริกา หรืออังกฤษใช้จนรวยขึ้นมา มานั่งมองจีน คุณจะพบว่าวิธีที่จีนใช้ มันไม่ใช่วิธีเดียวกับที่อเมริกา อังกฤษใช้ คือมันไม่ใช่วิธีรวยที่ทุกคนยอมรับกัน (จากการศึกษาและสรุปประสบการณ์อังกฤษ อเมกา) แต่เอ๊ะ คุณดันรวยขึ้นมาได้ ได้ไง
 
หลินบอกว่าหน้าที่ของเ ขา ก็คือการพยายามอธิบายว่าจีนรวยขึ้นมาได้อย่างไร โดยไม่ใช้กรอบคำอธิบายเดิมๆ ของอเมริกา หรืออังกฤษ กล่าวคือไม่ติดกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เคยมีมา (ซึ่งล้วนเกิดจากการที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและอังกฤษ สรุปวิธีของตนออกมา)
 
หลินสังเกตวิธีของจีน และสร้างทฤษฎีใหม่ ซึ่งอธิบายความสำเร็จของจีนได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล หลินเข้าใจว่าทฤษฎีทุกอย่าง เป็นเพียงการอธิบายปรากฎการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ได้กับทุกปรากฎการณ์
 
หลินยกตัวอย่างว่า จีนมีภาษิตว่า "ขีดเรือหาดาบ" คือมีเรื่องเล่าว่าคนพายเรือ ทำดาบหล่นลงน้ำ คนพายเรือก็เอาปากกามาทำเครื่องหมายที่ขอบเรือไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าดาบตกไปตรงนี้ จะได้หาดาบถูก
 
หลินบอกว่า ทฤษฎีต่างๆ ก็เหมือนนักวิชาการเอาปากกามาขีดเรือไว้ ว่าดาบอยู่ตรงนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะหาดาบเจอแน่ ถ้าเรือจอดอยู่ และน้ำก็นิ่ง แต่สังคมเหมือนกระแสน้ำ ซึ่งเปลี่ยนไปทุกวินาที เรือก็เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ดังนั้น จะไปเชื่อรอยขีด แล้วไปหาดาบตามรอยนั้น โดยเห็นว่าเป็นสัจธรรมที่เป็นนิรันดร์ ย่อมเป็นการเพ้อเจ้อและงมงาย เพราะเรือไม่นิ่ง น้ำไม่นิ่ง ปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตลอด
 
ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่ปัจจัยนี่เป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง เพราะฉะนั้น การมองโลก การเข้าใจโลกของเรา จะยึดติดกับคำตอบที่คนในอดีตให้ทั้งหมดไม่ได้ แต่บางที คนในอดีตให้เราได้ ก็คือวิธีที่เขาใช้คิด ใช้มองโลก วิธีที่เขาใช้ขีดเรือ 
 
ผมว่าอ่านงานพวกนี้้แล้ว บางทีรู้สึกเข้าใจชีวิตมากขึ้นนะ เพราะชีวิตกับสังคมจริงๆ ก็เหมือนกันนั่นแหละ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน สิ่งหนึ่งนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งเป็นลูกโซ่ไป ถ้าเราอยากทำชีวิตให้ดี ก็ต้องค่อยๆ มานั่งเข้าใจลูกโซ่ต่างๆ ในชีวิตเราว่าอะไรทำให้เกิดอะไร ควรจะทำอะไรตรงไหนให้มันดีขึ้น ใช่ครับ เราต้องขีดเรือ แต่ต้องไม่คิดว่านั่นคือคำตอบสุดท้ายที่ไม่เปลี่ยนแปลง เราขีดเพื่อเราจะได้มองหาดาบได้ชัดขึ้น แต่แล้วเราก็ต้องก้าวต่อไป พยายามขีดใหม่ เพื่อจะได้มองหาดาบอย่างถูกทิศทาง
 
การศึกษา บางทีสิ่งสำคัญที่สุดจึงไม่ใช่ท่องมาตรา หรือร่ายสูตร แต่เป็นการตั้งใจที่จะขีดเรือ ขณะเดียวกันก็ไม่ติด "รอยขีด" ที่คนข้างหน้าเราได้ขีดไว้ การเข้าใจที่จะสังเกตและสืบเสาะเหตุผลของความเป็นไปต่างๆ เพื่อจะได้รู้ว่าต้องปรับแก้ตรงไหน เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต หรือประเทศ หรือโลก
 
เราต้องคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (หรือพุทธศาสตร์ เหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องของการเชื่อในเหตุุและผล) ไม่ใช่แบบไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ หรือการติดกับดักของคำพูด ตัวอย่าง แบบแผน ความคิด คำสอนของใครสักคน โดยลืมกาลามสูตรและขาดโยนิโสมนัสสิการ เพราะมีแต่ความเชื่อในเหตุและผล และความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริง กล้าระบุเหตุและผลนั้น โดยเฉพาะในเวลาที่มันไม่รื่นหูรื่นตาเลยก็ตาม ที่จะช่วยให้เรือลำหนึ่งมุ่งฝ่าคลื่นลมไปหาดาบได้

โพสท์ใน การศึกษา | ใส่ความเห็น

เคล็ดลับของมูซาชิ

Dokkōdō   (ฉบับแปลตามใจอาร์ม[1])

มูซาชิ นักดาบญี่ปุ่น  ผู้มีเพลงดาบเลื่องลือ

ก่อนที่มูซาชิจะตายในปี
ค.ศ. ๑๖๔๕ เขาได้เขียนหลักการ ๒๑ ข้อ มอบให้มาโกโนโจ ลูกศิษย์เอกของเขา
เป็นเคล็ดวิชา ที่จะทำให้คนๆ หนึ่งบรรลุอิสรภาพทางจิตวิญญาณ
 

กฎ ๒๑ ข้อ รู้จักกันในนาม Dokkōdō   (独行道;"The Path of Aloneness") หรือทางแห่งอิสรภาพ

๑.     
อย่าฝืนกฎเกณฑ์แห่งโลก

๒.    
ความสุขมิใช่เป้าหมายเดียวของชีวิต

๓.    
อย่าตัดสินปัญหาด้วยเศษเสี้ยวของอารมณ์

๔.    
ตัวกูเล็กนิดเดียว โลกกว้างใหญ่นัก

๕.    
อย่าอยู่อย่างอยาก

๖.     
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ

๗.    
อย่าอิจฉา

๘.    
อย่าเศร้าโศกเมื่อต้องแยกทางเดิน

๙.    
อย่าบ่นพ้อ ไม่ว่าเรื่องของตน หรือเรื่องของคนอื่น

๑๐.
อย่าตาบอดเพราะรัก

๑๑.
อย่าเรื่องมาก

๑๒.
อย่าเลือกที่อยู่

๑๓.
อย่าเลือกกิน

๑๔.
อย่าเก็บสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว

๑๕.
อย่าทำสิ่งหนึ่ง
เพียงเพราะทุกคนทำ

๑๖.
อย่าหลงใหลในศาสตราวุธและการสู้รบ

๑๗.
อย่ากลัวตาย

๑๘.
อย่าสะสมวัตถุเพื่อวัยชรา

๑๙.
บูชาพระพุทธเจ้าและปวงเทพโดยไม่หวังให้ท่านช่วย

๒๐.
กายนั้นทิ้งได้ เกียรติต้องรักษา

๒๑.
อย่าหลงไปจากทางของตน



[1] ภาษาญี่ปุ่นที่สั้นและกินความลึกซึ้ง
ทำให้เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษหรือจีน (อันเป็นภาษาที่ผมอ่านได้) แต่ละสำนวนล้วนต่างกันมาก  จึงต้องอ่านจากหลายสำนวน แล้วเรียบเรียงเป็นไทยตามความเข้าใจอันน้อยนิดของผม

โพสท์ใน ชีวิต | ใส่ความเห็น

“ปู่ผมร่วมตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่วนผมสอนทุนนิยมที่ฮาร์วาร์ด”

แนวคิดของ “หวงย่าเชิง”——จุดเด่นของอินเดีย จุดด้อยของจีน

                    วันก่อนเจอคนบ่นในเวบบอร์ดแห่งหนึ่งว่า “ผม
(เสื้อ) เหลือง แต่ลูกมันไม่รักดี ดันไปเข้ากับพวก (เสื้อ) แดง
เสียข้าวเสียน้ำเลี้ยงมันมา……”

                    ด้วยความเห็นใจคุณลุงท่านนั้น  ผมเลยคิดอย่างแบ่งปันเรื่องราวและแนวคิดของนักวิชาการจีนท่านหนึ่ง
ซึ่งเกิดในตระกูลหวง

                  ตระกูลหวงนี่เป็นตระกูลสีแดง
(หมายถึงคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่พวกคุณทักษิณ) หวงกังภูมิใจในเลือดแดงของครอบครัวมาก
ท่านเป็นบุตรของหวงฟู่เชิงผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และตัวท่านเองก็เป็นนักเขียนและสมาชิกพรรคฯ
ที่มีชื่อเสียง ท่านศรัทธาธงแดงจากก้นบึ้งของจิตวิญญาณ ท่านหวังว่าลูกหลานก็จะสืบทอดอุดมคติแดงต่อไปชั่วกัลปวสาน……

                   เสียเพียงแต่ว่า
ลูกท่านดื้อด้าน

                 ช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ ขณะที่พ่อยังฝัน (กลางวัน)
ถึงสังคมศิวิไลซ์ของมาร์กซ์ ลูกกลับมองเห็นความเลวร้ายและเน่าเฟะของระบบที่พ่อบูชา แต่หวงกังเป็นพ่อที่น่ารักมาก
ท่านไม่ได้ตระหนักเลยว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ท่านคิด (อย่าง “ไร้เดียงสา”) ว่าลูกหลงทางเพราะอ่อนต่อโลก  เพราะยังโง่ เพราะไม่ “เก็ท”

               ปี ค.ศ. ๑๙๘๑ เมื่อจีนเปิดประเทศ
หวงกังตัดสินใจส่งลูกหัวดื้อคนนี้ไปเรียนฮาร์วาร์ด ไม่ใช่ให้ไปเรียนรู้ทุนนิยม  แต่ต้องการให้ไปเห็นความชั่วร้ายอันดาษดื่นของสังคมสหรัฐฯและระบบทุนนิยม
จะได้กลับตัวกลับใจ รู้ดีรู้ชอบเสียที

               ลูกหัวดื้อคนนี้ ก็คือ ศาสตราจารย์หวงย่าเชิง
อดีตอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ ม, ฮาร์วาร์ดปัจจุบันย้ายมาสอนที่เอ็มไอที
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน – อินเดีย ซึ่งเพิ่งเข็นหนังสือวิพากษ์โมเดลเศรษฐกิจจีนชื่อ
Capitalism with Chinese
Characteristics
” อันโด่งดังออกมา

จุดเด่นอินเดีย

              หวงย่าเชิงเล่าในบทสัมภาษณ์ฉบับหนึ่งว่าเขารักพ่อ
และรักชาติจีน “เพียงแต่วิธีการของผมไม่เหมือนกับพ่อ” ขณะที่พ่อเคยเขียนชื่นชมและวาดฝันถึงสังคมจีนที่ปราศจากชนชั้น  หวงย่าเชิงเขียนงานวิชาการที่วิพากษ์โมเดลเศรษฐกิจของจีนอย่างเผ็ดร้อน  โดยมีตัวเปรียบเทียบที่เขาชื่นชม คือ โมเดลของอินเดีย
  

              เขาเห็นว่า เพื่อจะมองตนเองได้ชัดขึ้น
จีนต้องมีคู่แข่ง ต้องมีคู่เปรียบเทียบ ซึ่งคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อของจีนจะเป็นใครไปไม่ได้
นอกจากอินเดียนั่นเอง

             คนจีน (รวมทั้งคนไทย) ไปอินเดีย หลายคนกลับมาจะร้องยี้ รู้สึกว่าอินเดียนี่สกปรก
ไม่สวยงามไม่มีถนนสี่เลนส์ ไม่มีทางด่วน ไม่มีตึกสูงเทียมฟ้าอย่างในเซี่ยงไฮ้  (หรือบางกอก) หลายคนดูถูกว่าอินเดียคงไปไม่ถึงไหน……แต่หวงตั้งคำถามว่า ในเมื่อไม่มีการลงทุนสร้างสาธารณูปโภค  ไม่มีถนนสี่เลนส์ ทางด่วน…แล้วทำไม…ทำไมอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียยังโตได้
๘-๙ เปอร์เซนต์ทุกปีเล่า

             หวงศึกษาวิจัย และสรุป “โมเดลของอินเดีย” ว่าเป็นการพยายามปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งระบบ  พยายามเปิดและปฏิรูปประเทศไปพร้อมๆ กัน สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนที่ยากจนหันมาประกอบการ
ทำให้คนมีช่องทางทำมาหากินมากขึ้น คนยากจนมีรายได้เลี้ยงตัวเองขึ้นมา 

            อินเดียไม่ต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ก็สามารถโตได้ด้วยลำแข้งของตนเอง อินเดียอาจไม่สวยงาม
แต่สังคมอินเดียมีเสถียรภาพ ไม่เกิดการจราจลเพราะคนไม่มีกิน

จุดด้อยจีน

           เวลาเราพูดถึงความสำเร็จของจีน
เรามักจะได้ยินคนพูดว่า “เห็นไหม ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย ก็เจริญได้” / “การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นโมเดลที่ดีที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจ”/
“การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ฯลฯ

              หวงกระซิบ
(ดังๆ) ผ่านงานของท่านว่า คิดอย่างนี้… เหลวไหลสิ้นดี

          เขามองพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสองช่วง

            ช่วงแรก
คือช่วงปี ค.ศ. ๑๙๘๐ – ๑๙๘๙ เป็นช่วงที่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายเปิดและปฏิรูป หวงเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่จีนใช้โมเดลการพัฒนาแบบเดียวกับอินเดียในปัจจุบัน
คือทั้ง “เปิด” และ”ปฎิรูป” ไปพร้อมๆ กัน มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น  ระบบสภาผู้แทนประชาชน ระบบกฎหมาย ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ โมเดลนี้ยังเน้น
“การพัฒนาชนบท” มีการสนับสนุนให้คนชนบทประกอบการได้ในรูปแบบของ TWE (Township and Village Enterprises) ทำให้คนชนบทอยู่ดีกินดีจากการประกอบการ เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากรากฐาน

              ยุคการปฏิรูปนี้ ต้องยุติลงด้วยเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
(ทมิฬ) ซึ่งทำให้จ้าวจื่อหยาง ผู้นำพรรคคอมฯ  ที่เติบโตมาจากมณฑลชนบทต้องปิดฉากชีวิตทางการเมืองไป
และเปิดทางให้นักการเมืองจากเซี่ยงไฮ้ เช่น เจียงเจ๋อหมิน จูหรงจี
เข้ามากุมบังเหียนประเทศ

              นำไปสู่ช่วงที่สอง
คือช่วงปี ค.ศ. ๑๙๘๙ เป็นต้นมา ซึ่งรัฐบาลจีนเลือกใช้ “โมเดลเซี่ยงไฮ้” ซึ่งเน้น”การพัฒนาเมือง” เข้าแทนที่ “การพัฒนาชนบท”
 นโยบายในช่วงนี้เน้นการพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาล
และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
(FDI) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทต่างประเทศ
ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับทุนจากต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียม  นอกจากนั้น ยังมีการตั้งมาตรการต่างๆ ซึ่งจำกัดการตั้งกิจการของผู้ประกอบการชาวจีน  ทำให้คนในชนบทไม่สามารถประกอบกิจการเองได้ง่ายดังแต่ก่อน พวกเขาเหล่านี้ไม่มีทางเลือก
ถ้าไม่มุดหัวทำนา ก็ต้องเข้าเมืองมาเป็นแรงงานในโรงงาน
 

               นอกจากนั้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  รัฐบาลยังเร่งสร้างสาธารณูปโภค“ขั้นพื้นฐาน” ขนานใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ถนน ทางด่วน
รถไฟ สนามบิน ตึกสูงๆ ฯลฯ หวงเห็นว่านี่เป็นนโยบายที่ “ผิดพลาด” เพราะ “การสร้างสาธารณูปโภค
(โดยรัฐบาล) ไม่ควรมาใช้เป็นเหตุกระตุ้นให้
GDP โต แต่ GDP ที่โต (จากการที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนประกอบการ
เช่นในอินเดีย) ต่างหากที่ควรเป็นเหตุให้เกิดการสร้างสาธารณูปโภค (โดยเอกชนเอง
ไม่ใช่รัฐบาล)”

              การสร้างสาธารณูปโภคอย่างเอาเป็นเอาตายของรัฐบาล
นอกจากทำให้ประเทศ “สวย” ขึ้นแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์แท้จริงอื่นใดเลย กลับทำให้รัฐบาลเสียโอกาสที่จะเอาเงินเหล่านี้ไปลงทุนด้านการศึกษา  ด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งยังนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาคอร์รัปชั่นที่กินวงกว้าง (ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่ขาดระบบการตรวจสอบที่ดีดังสังคมประชาธิปไตยของอินเดีย)  นอกจากนั้น เงินที่รัฐบาลเอามาใช้สร้างสาธารณูปโภคก็เป็นเงินที่ได้จากการเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น  ธุรกิจเมื่อต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงย่อมจำต้องกดค่าแรงผู้ใช้แรงงาน ทั้งหมดล้วนเป็นวัฐจักรที่ทำให้คนจนโงหัวไม่ขึ้น

       หวงวิพากษ์ว่ารัฐบาลจีนมุ่ง
“ความสวยงาม และ “ตัวเลข” มากเกินไป ทั้งๆ ที่หน้าที่หลักของรัฐบาลคือการทำให้สังคมมีเสถียรภาพ  เมื่อไม่คิดถึงการปิดกั้นข่าวสารของภาครัฐแล้ว สังคมจีนในแต่ละปีมีปัญหาความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นมากกว่าในอินเดีย
ซึ่งมีปัญหาเรื่องชนชั้นวรรณะเป็นทุนเดิมเสียอีก

              หวงชี้ว่า
ถ้าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จีนยังคงใช้โมเดลเดียวกับที่จีนใช้ในช่วงสิบปีแรกที่เปิดและปฏิรูป  (ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกันกับที่อินเดียใช้ในปัจจุบัน) เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตในอัตราที่สูงดังเดิม
แต่จะเป็นการโตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
   

อุดมคติและความไร้เดียงสา

           อ่านงานของหวงย่าเชิงแล้ว
หลายคนจะรู้สึกว่าจีนไม่ได้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่คิด  ตรงกันข้าม ออกจะล้มเหลวและมีปัญหามากมายเสียด้วยซ้ำ

              ผมคิดว่าเราต้องยอมรับว่าถึงแม้จีนจะใช้
“โมเดลเซี่ยงไฮ้”   ในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา จีนก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างมหัศจรรย์แล้ว  (จีนได้ยกระดับชีวิตคนไม่รู้กี่ร้อยล้านคน) งานของหวงเพียงชี้ให้เห็นถึงจุดด้อยของโมเดลเศรษฐกิจดังกล่าว  และชี้ให้เห็นโมเดลที่ “อาจ” เข้าท่ากว่า

              จริงๆ
แล้ว ปัญหาต่างๆ ที่หวงกล่าวมา
โดยเฉพาะปัญหาที่รัฐบาลจีนไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาชนบทและส่งเสริมให้ชาวจีนประกอบกิจการ  (ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก) นับเป็นปัญหาที่นักวิชาการชั้นนำของจีนอภิปรายมานานแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นหลินอีฟู ลี่อี่หนิง โจวฉีเหริน ฯลฯ เพียงแต่ระดับความเข้มข้นของการวิพากษ์วิจารณ์อาจแตกต่างกัน  งานของหวงวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนและรุนแรง ทั้งยังนำเอาประสบการณ์และตัวเลขของ “อินเดีย”
มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน

              หลังยุคของเจียงเจ๋อหมินสิ้นสุดลง
หูจินเทาได้ประกาศจะกลับมาย้ำเน้นการ “ปฎิรูป” เชิงโครงสร้างอีกครั้ง นอกจากนั้น
ยังย้ำเน้นถึงความจำเป็นในการพัฒนาชนบท และการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและเล็ก  แนวทางของรัฐบาลใหม่ในรอบห้าปีที่ผ่านมานั้น นักวิชาการล้วนเห็นตรงกันว่าเดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง  จะเห็นต่างกันแค่ในเรื่องความเร็วและความแรงของการปฏิรูปว่าควรจะมากน้อยเพียงใด
  

วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยิ่งทำให้จีนเห็นปัญหาของ “โมเดลเซี่ยงไฮ้”
ที่เน้นการพึ่งพาทุนนอกชัดเจนมากขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนประกาศเดินหน้าขยายตลาดภายในประเทศ  แต่หวงย่าเชิงเห็นว่ารัฐบาลยังคงยึดติดแนวคิดเก่าๆ อยู่ เช่น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า  ๔ ล้านล้านหยวนนั้น ก็ยังคงเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนด้านสาธารณูปโภคโดยรัฐบาลอยู่นั่นเอง  ไม่ได้มุ่งส่งเสริมภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคชนบทอย่างแรงและเร็วพอ

              ผมอ่านแนวคิดของหวง
แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ผมก็รู้สึกชื่นชม…เพราะงานของหวงไม่ได้เป็นงานที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ
แต่มีตัวเลขและหลักฐานต่างๆ จากการศึกษาวิจัยมาประกอบ ในบทสัมภาษณ์อาจารย์หวงที่ผมได้อ่าน
มีตอนหนึ่งที่หวงกล่าวถึงพ่อของเขาว่า “พ่อผมเป็นนักอุดมคติ (
Idealist) แต่พ่อชอบฝันลอยๆ พ่อไม่ได้เข้าใจสังคมจีนยุคนั้นอย่างแท้จริง  ไม่รู้เลยว่าชนบทเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ท่านเป็นนักอุดมคติ แต่อุดมคติของท่านไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง……พูดถึงความหวังของพ่อ  ผมคิดว่าอุดมคติของพ่อนั้น ผมสืบทอดได้ แต่ความไร้เดียงสาของท่านนั้น ผมคงไม่อาจสืบทอดได้”

              แล้วในบรรดานักอุดมคติทั้งหลายที่
“เล่นกีฬาสี” ตามท้องถนน (และเวบบอร์ด) ของไทย มีใครบ้างเข้าใจชนบทไทยว่าเป็นอย่างไร  มีใครบ้างยินดีนั่งลงศึกษา “ข้อเท็จจริง” มีใครบ้างจะพิจารณาปัญหาของชาติด้วยสติว่าเราใช้โมเดลอะไร  ดีไม่ดีอย่างไร……

             หรือว่า เรายังคงไร้เดียงสากันอยู่

โพสท์ใน เศรษฐกิจ | 4 ความเห็น