“ปู่ผมร่วมตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่วนผมสอนทุนนิยมที่ฮาร์วาร์ด”

แนวคิดของ “หวงย่าเชิง”——จุดเด่นของอินเดีย จุดด้อยของจีน

                    วันก่อนเจอคนบ่นในเวบบอร์ดแห่งหนึ่งว่า “ผม
(เสื้อ) เหลือง แต่ลูกมันไม่รักดี ดันไปเข้ากับพวก (เสื้อ) แดง
เสียข้าวเสียน้ำเลี้ยงมันมา……”

                    ด้วยความเห็นใจคุณลุงท่านนั้น  ผมเลยคิดอย่างแบ่งปันเรื่องราวและแนวคิดของนักวิชาการจีนท่านหนึ่ง
ซึ่งเกิดในตระกูลหวง

                  ตระกูลหวงนี่เป็นตระกูลสีแดง
(หมายถึงคอมมิวนิสต์จีน ไม่ใช่พวกคุณทักษิณ) หวงกังภูมิใจในเลือดแดงของครอบครัวมาก
ท่านเป็นบุตรของหวงฟู่เชิงผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และตัวท่านเองก็เป็นนักเขียนและสมาชิกพรรคฯ
ที่มีชื่อเสียง ท่านศรัทธาธงแดงจากก้นบึ้งของจิตวิญญาณ ท่านหวังว่าลูกหลานก็จะสืบทอดอุดมคติแดงต่อไปชั่วกัลปวสาน……

                   เสียเพียงแต่ว่า
ลูกท่านดื้อด้าน

                 ช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ ขณะที่พ่อยังฝัน (กลางวัน)
ถึงสังคมศิวิไลซ์ของมาร์กซ์ ลูกกลับมองเห็นความเลวร้ายและเน่าเฟะของระบบที่พ่อบูชา แต่หวงกังเป็นพ่อที่น่ารักมาก
ท่านไม่ได้ตระหนักเลยว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ท่านคิด (อย่าง “ไร้เดียงสา”) ว่าลูกหลงทางเพราะอ่อนต่อโลก  เพราะยังโง่ เพราะไม่ “เก็ท”

               ปี ค.ศ. ๑๙๘๑ เมื่อจีนเปิดประเทศ
หวงกังตัดสินใจส่งลูกหัวดื้อคนนี้ไปเรียนฮาร์วาร์ด ไม่ใช่ให้ไปเรียนรู้ทุนนิยม  แต่ต้องการให้ไปเห็นความชั่วร้ายอันดาษดื่นของสังคมสหรัฐฯและระบบทุนนิยม
จะได้กลับตัวกลับใจ รู้ดีรู้ชอบเสียที

               ลูกหัวดื้อคนนี้ ก็คือ ศาสตราจารย์หวงย่าเชิง
อดีตอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ ม, ฮาร์วาร์ดปัจจุบันย้ายมาสอนที่เอ็มไอที
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน – อินเดีย ซึ่งเพิ่งเข็นหนังสือวิพากษ์โมเดลเศรษฐกิจจีนชื่อ
Capitalism with Chinese
Characteristics
” อันโด่งดังออกมา

จุดเด่นอินเดีย

              หวงย่าเชิงเล่าในบทสัมภาษณ์ฉบับหนึ่งว่าเขารักพ่อ
และรักชาติจีน “เพียงแต่วิธีการของผมไม่เหมือนกับพ่อ” ขณะที่พ่อเคยเขียนชื่นชมและวาดฝันถึงสังคมจีนที่ปราศจากชนชั้น  หวงย่าเชิงเขียนงานวิชาการที่วิพากษ์โมเดลเศรษฐกิจของจีนอย่างเผ็ดร้อน  โดยมีตัวเปรียบเทียบที่เขาชื่นชม คือ โมเดลของอินเดีย
  

              เขาเห็นว่า เพื่อจะมองตนเองได้ชัดขึ้น
จีนต้องมีคู่แข่ง ต้องมีคู่เปรียบเทียบ ซึ่งคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อของจีนจะเป็นใครไปไม่ได้
นอกจากอินเดียนั่นเอง

             คนจีน (รวมทั้งคนไทย) ไปอินเดีย หลายคนกลับมาจะร้องยี้ รู้สึกว่าอินเดียนี่สกปรก
ไม่สวยงามไม่มีถนนสี่เลนส์ ไม่มีทางด่วน ไม่มีตึกสูงเทียมฟ้าอย่างในเซี่ยงไฮ้  (หรือบางกอก) หลายคนดูถูกว่าอินเดียคงไปไม่ถึงไหน……แต่หวงตั้งคำถามว่า ในเมื่อไม่มีการลงทุนสร้างสาธารณูปโภค  ไม่มีถนนสี่เลนส์ ทางด่วน…แล้วทำไม…ทำไมอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียยังโตได้
๘-๙ เปอร์เซนต์ทุกปีเล่า

             หวงศึกษาวิจัย และสรุป “โมเดลของอินเดีย” ว่าเป็นการพยายามปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งระบบ  พยายามเปิดและปฏิรูปประเทศไปพร้อมๆ กัน สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนที่ยากจนหันมาประกอบการ
ทำให้คนมีช่องทางทำมาหากินมากขึ้น คนยากจนมีรายได้เลี้ยงตัวเองขึ้นมา 

            อินเดียไม่ต้องพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ก็สามารถโตได้ด้วยลำแข้งของตนเอง อินเดียอาจไม่สวยงาม
แต่สังคมอินเดียมีเสถียรภาพ ไม่เกิดการจราจลเพราะคนไม่มีกิน

จุดด้อยจีน

           เวลาเราพูดถึงความสำเร็จของจีน
เรามักจะได้ยินคนพูดว่า “เห็นไหม ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย ก็เจริญได้” / “การดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นโมเดลที่ดีที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจ”/
“การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ฯลฯ

              หวงกระซิบ
(ดังๆ) ผ่านงานของท่านว่า คิดอย่างนี้… เหลวไหลสิ้นดี

          เขามองพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสองช่วง

            ช่วงแรก
คือช่วงปี ค.ศ. ๑๙๘๐ – ๑๙๘๙ เป็นช่วงที่เติ้งเสี่ยวผิงประกาศนโยบายเปิดและปฏิรูป หวงเห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่จีนใช้โมเดลการพัฒนาแบบเดียวกับอินเดียในปัจจุบัน
คือทั้ง “เปิด” และ”ปฎิรูป” ไปพร้อมๆ กัน มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น  ระบบสภาผู้แทนประชาชน ระบบกฎหมาย ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ฯลฯ โมเดลนี้ยังเน้น
“การพัฒนาชนบท” มีการสนับสนุนให้คนชนบทประกอบการได้ในรูปแบบของ TWE (Township and Village Enterprises) ทำให้คนชนบทอยู่ดีกินดีจากการประกอบการ เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากรากฐาน

              ยุคการปฏิรูปนี้ ต้องยุติลงด้วยเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
(ทมิฬ) ซึ่งทำให้จ้าวจื่อหยาง ผู้นำพรรคคอมฯ  ที่เติบโตมาจากมณฑลชนบทต้องปิดฉากชีวิตทางการเมืองไป
และเปิดทางให้นักการเมืองจากเซี่ยงไฮ้ เช่น เจียงเจ๋อหมิน จูหรงจี
เข้ามากุมบังเหียนประเทศ

              นำไปสู่ช่วงที่สอง
คือช่วงปี ค.ศ. ๑๙๘๙ เป็นต้นมา ซึ่งรัฐบาลจีนเลือกใช้ “โมเดลเซี่ยงไฮ้” ซึ่งเน้น”การพัฒนาเมือง” เข้าแทนที่ “การพัฒนาชนบท”
 นโยบายในช่วงนี้เน้นการพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาล
และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
(FDI) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทต่างประเทศ
ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับทุนจากต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียม  นอกจากนั้น ยังมีการตั้งมาตรการต่างๆ ซึ่งจำกัดการตั้งกิจการของผู้ประกอบการชาวจีน  ทำให้คนในชนบทไม่สามารถประกอบกิจการเองได้ง่ายดังแต่ก่อน พวกเขาเหล่านี้ไม่มีทางเลือก
ถ้าไม่มุดหัวทำนา ก็ต้องเข้าเมืองมาเป็นแรงงานในโรงงาน
 

               นอกจากนั้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  รัฐบาลยังเร่งสร้างสาธารณูปโภค“ขั้นพื้นฐาน” ขนานใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ถนน ทางด่วน
รถไฟ สนามบิน ตึกสูงๆ ฯลฯ หวงเห็นว่านี่เป็นนโยบายที่ “ผิดพลาด” เพราะ “การสร้างสาธารณูปโภค
(โดยรัฐบาล) ไม่ควรมาใช้เป็นเหตุกระตุ้นให้
GDP โต แต่ GDP ที่โต (จากการที่รัฐบาลสนับสนุนให้คนประกอบการ
เช่นในอินเดีย) ต่างหากที่ควรเป็นเหตุให้เกิดการสร้างสาธารณูปโภค (โดยเอกชนเอง
ไม่ใช่รัฐบาล)”

              การสร้างสาธารณูปโภคอย่างเอาเป็นเอาตายของรัฐบาล
นอกจากทำให้ประเทศ “สวย” ขึ้นแล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์แท้จริงอื่นใดเลย กลับทำให้รัฐบาลเสียโอกาสที่จะเอาเงินเหล่านี้ไปลงทุนด้านการศึกษา  ด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งยังนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาคอร์รัปชั่นที่กินวงกว้าง (ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่ขาดระบบการตรวจสอบที่ดีดังสังคมประชาธิปไตยของอินเดีย)  นอกจากนั้น เงินที่รัฐบาลเอามาใช้สร้างสาธารณูปโภคก็เป็นเงินที่ได้จากการเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น  ธุรกิจเมื่อต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงย่อมจำต้องกดค่าแรงผู้ใช้แรงงาน ทั้งหมดล้วนเป็นวัฐจักรที่ทำให้คนจนโงหัวไม่ขึ้น

       หวงวิพากษ์ว่ารัฐบาลจีนมุ่ง
“ความสวยงาม และ “ตัวเลข” มากเกินไป ทั้งๆ ที่หน้าที่หลักของรัฐบาลคือการทำให้สังคมมีเสถียรภาพ  เมื่อไม่คิดถึงการปิดกั้นข่าวสารของภาครัฐแล้ว สังคมจีนในแต่ละปีมีปัญหาความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้นมากกว่าในอินเดีย
ซึ่งมีปัญหาเรื่องชนชั้นวรรณะเป็นทุนเดิมเสียอีก

              หวงชี้ว่า
ถ้าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จีนยังคงใช้โมเดลเดียวกับที่จีนใช้ในช่วงสิบปีแรกที่เปิดและปฏิรูป  (ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกันกับที่อินเดียใช้ในปัจจุบัน) เศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตในอัตราที่สูงดังเดิม
แต่จะเป็นการโตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
   

อุดมคติและความไร้เดียงสา

           อ่านงานของหวงย่าเชิงแล้ว
หลายคนจะรู้สึกว่าจีนไม่ได้ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่คิด  ตรงกันข้าม ออกจะล้มเหลวและมีปัญหามากมายเสียด้วยซ้ำ

              ผมคิดว่าเราต้องยอมรับว่าถึงแม้จีนจะใช้
“โมเดลเซี่ยงไฮ้”   ในช่วงเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา จีนก็ได้ประสบความสำเร็จอย่างมหัศจรรย์แล้ว  (จีนได้ยกระดับชีวิตคนไม่รู้กี่ร้อยล้านคน) งานของหวงเพียงชี้ให้เห็นถึงจุดด้อยของโมเดลเศรษฐกิจดังกล่าว  และชี้ให้เห็นโมเดลที่ “อาจ” เข้าท่ากว่า

              จริงๆ
แล้ว ปัญหาต่างๆ ที่หวงกล่าวมา
โดยเฉพาะปัญหาที่รัฐบาลจีนไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาชนบทและส่งเสริมให้ชาวจีนประกอบกิจการ  (ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก) นับเป็นปัญหาที่นักวิชาการชั้นนำของจีนอภิปรายมานานแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นหลินอีฟู ลี่อี่หนิง โจวฉีเหริน ฯลฯ เพียงแต่ระดับความเข้มข้นของการวิพากษ์วิจารณ์อาจแตกต่างกัน  งานของหวงวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนและรุนแรง ทั้งยังนำเอาประสบการณ์และตัวเลขของ “อินเดีย”
มาเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจน

              หลังยุคของเจียงเจ๋อหมินสิ้นสุดลง
หูจินเทาได้ประกาศจะกลับมาย้ำเน้นการ “ปฎิรูป” เชิงโครงสร้างอีกครั้ง นอกจากนั้น
ยังย้ำเน้นถึงความจำเป็นในการพัฒนาชนบท และการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและเล็ก  แนวทางของรัฐบาลใหม่ในรอบห้าปีที่ผ่านมานั้น นักวิชาการล้วนเห็นตรงกันว่าเดินมาในทิศทางที่ถูกต้อง  จะเห็นต่างกันแค่ในเรื่องความเร็วและความแรงของการปฏิรูปว่าควรจะมากน้อยเพียงใด
  

วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยิ่งทำให้จีนเห็นปัญหาของ “โมเดลเซี่ยงไฮ้”
ที่เน้นการพึ่งพาทุนนอกชัดเจนมากขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนประกาศเดินหน้าขยายตลาดภายในประเทศ  แต่หวงย่าเชิงเห็นว่ารัฐบาลยังคงยึดติดแนวคิดเก่าๆ อยู่ เช่น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า  ๔ ล้านล้านหยวนนั้น ก็ยังคงเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนด้านสาธารณูปโภคโดยรัฐบาลอยู่นั่นเอง  ไม่ได้มุ่งส่งเสริมภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคชนบทอย่างแรงและเร็วพอ

              ผมอ่านแนวคิดของหวง
แม้จะไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่ผมก็รู้สึกชื่นชม…เพราะงานของหวงไม่ได้เป็นงานที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ
แต่มีตัวเลขและหลักฐานต่างๆ จากการศึกษาวิจัยมาประกอบ ในบทสัมภาษณ์อาจารย์หวงที่ผมได้อ่าน
มีตอนหนึ่งที่หวงกล่าวถึงพ่อของเขาว่า “พ่อผมเป็นนักอุดมคติ (
Idealist) แต่พ่อชอบฝันลอยๆ พ่อไม่ได้เข้าใจสังคมจีนยุคนั้นอย่างแท้จริง  ไม่รู้เลยว่าชนบทเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ท่านเป็นนักอุดมคติ แต่อุดมคติของท่านไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง……พูดถึงความหวังของพ่อ  ผมคิดว่าอุดมคติของพ่อนั้น ผมสืบทอดได้ แต่ความไร้เดียงสาของท่านนั้น ผมคงไม่อาจสืบทอดได้”

              แล้วในบรรดานักอุดมคติทั้งหลายที่
“เล่นกีฬาสี” ตามท้องถนน (และเวบบอร์ด) ของไทย มีใครบ้างเข้าใจชนบทไทยว่าเป็นอย่างไร  มีใครบ้างยินดีนั่งลงศึกษา “ข้อเท็จจริง” มีใครบ้างจะพิจารณาปัญหาของชาติด้วยสติว่าเราใช้โมเดลอะไร  ดีไม่ดีอย่างไร……

             หรือว่า เรายังคงไร้เดียงสากันอยู่

ข้อความนี้ถูกเขียนใน เศรษฐกิจ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น