ประชานิยมแบบจีน

ประชานิยมแบบจีน

          ถ้าได้ดูการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ ๑๗ เมื่อปีที่แล้ว ได้ดูการประชุมใหญ่ของสภาประชาชนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จะเห็นว่านโยบายประชานิยมต่างๆของรัฐบาลจีน เป็นไฮไลท์ที่สำคัญมาก

         ช่วงนี้ผมและเพื่อนกำลังสนใจศึกษานโยบายประชานิยมของจีน เพราะรู้สึกว่ามีความละเอียด ซับซ้อน และแยบคายมาก รัฐบาลจีนไม่ต้องหาเสียงและเขาก็คิดเหมือนเขาจะอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย ดังนั้น นโยบายประชานิยมของเขาจึงมุ่งแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการวิจัยอย่างละเอียด มีตัวเลขรองรับชัดเจน มาตราการไหนเพื่อบรรเทาปัญหาระยะสั้น มาตรการไหนเพื่อประโยชน์ระยะยาว ในส่วนของระยะยาวนั้นก็เป็นแผนการยาวไกลถึงสิบปียี่สิบปีเลยทีเดียว  

         “ประชานิยม” ตามความหมายของบทความนี้ไม่ใช่ “Populist Policy เพื่อคะแนนเสียง แต่หมายถึงแนวทางในการคืนหรือสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ตัวอย่างนโยบายของจีนที่ผมเรียกว่า “ประชานิยม” อาทิ การเปลี่ยนวิธีคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการและการลดภาษีมูลค่าเพิ่มบางรายการ การแจกคูปองชอปปิ้งและคูปองท่องเที่ยว โครงการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกให้ชาวชนบท การประกาศจัดสร้างระบบประกันสังคมครบวงจร ฯลฯ

         ผมไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะอธิบายละเอียดว่านโยบายเหล่านี้ทั้งหมดมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมุ่งให้เกิดผลอะไร ปฏิบัติอย่างไร แต่ผมอยากพยายามอธิบายว่าทำไมเขาต้องเข็นนโยบายพวกนี้ออกมา? แนวคิดทางยุทธศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังคืออะไร?       

 

วิกฤติเศรษฐกิจโลก กับยาสองขนาน

เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลจีนประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสี่ล้านล้านบาท ช่วยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในทันที ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนยังบวกด้วยตัวเลขที่สูงอยู่ แต่ยาสูตรกระตุ้นประสาทขนานนี้ใช้ได้ดีแต่ในระยะสั้นเท่านั้น ไม่เป็นผลดีต่อ “ร่างกาย” ในระยะยาว

         ในการใช้จ่ายทั้งสามภาค อันได้แก่ การใช้จ่ายของภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนนั้น โดยทั่วไปแล้ว การใช้จ่ายของภาครัฐบาลยิ่งมาก มักทำให้การใช้จ่ายของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนลดลง การจะฟื้นเศรษฐกิจให้กระชุ่มกระชวยได้นั้น ต้องพึ่งการใช้จ่ายของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคครัวเรือนถือเป็นแกนขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดเลยทีเดียว  

         ดังนั้น ยาขนานเอกจริงๆ ซึ่งจะช่วยส่งผลดีในระยะยาว ก็คือการที่รัฐบาลจีนต้องออกมาตราการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนให้คึกคักขึ้นมา

 

โครงสร้างรายได้ประชาชาติ (NI) ที่ไม่สมดุลย์

ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสภาประชาชนที่ผ่านมาหรือการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์คร้งที่ ๑๗ เมื่อปีที่แล้ว “การปฏิรูปโครงสร้างรายได้ประชาชาติ” โดยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ครัวเรือน และลดสัดส่วนรายได้รัฐบาล นับเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของยุทธศาสตร์รอบทศวรรษใหม่ที่ผู้นำจีนประกาศ

ที่ผ่านมา รายได้รัฐบาลโตเร็วเกินไป สัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติลดลงตามลำดับตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๗ – ๒๐๐๗ โดยสัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๑๗.๕ เป็นร้อยละ ๒๔.๒  ขณะที่สัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อรายได้ประชาชาติลดลงจากร้อยละ ๖๘.๑ เป็นร้อยละ ๕๗ นับจากปี ค.ศ. ๒๐๐๔ – ๒๐๐๘ รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจาก ๒.๖๔ ล้านล้านหยวน เป็น ๖.๑๓ ล้านล้านหยวนภายใน ๔ ปี

รายได้ครัวเรือนเติบโตด้วยอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่นในปีค.ศ. ๒๐๐๘ อัตราการเจริญเติบโตของรายได้ครัวเรือนในเขตเมืองต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ ๐.๖  อัตราการเจริญเติบโตของรายได้ครัวเรือนในเขตชนบทต่ำกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ ๑ ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตของรายได้รัฐบาลกลับสูงถึงร้อยละ ๒๐ เลยทีเดียว

         รัฐบาลจีนเริ่มตระหนักความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างรายได้ประชาชาชาติเสียใหม่โดยเพิ่มสัดส่วนของรายได้ครัวเรือน จึงเป็นที่มาของมาตรการประชานิยมต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน อาทิ การลดหรือเปลี่ยนวิธีคิดคำนวณภาษี การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การปฏิรูปที่ดิน การประกันราคาการเกษตร การใช้เงินอัดฉีดช่วยภาคการเกษตรโดยตรง เป็นต้น

        

ความสำคัญของระบบประกันสังคม

ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๘ – ๒๐๐๗ งบประมาณรายจ่ายประจำปีด้านประกันสังคมของรัฐบาล เพิ่มจาก ๕๙,๖๐๐ ล้านหยวน เป็น ๕๔๐,๐๐๐ ล้านหยวน นับว่าเพิ่มขึ้นด้วยอัตราร้อยละ ๓๐ ต่อปี งบประมาณรายจ่ายด้านประกันสังคมจากเดิม (ค.ศ. ๑๙๙๘) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕.๕  เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๑๐.๙ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด  

         แต่สัดส่วนร้อยละ ๑๐ นั้นก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปที่พัฒนาแล้วบางแห่ง ซึ่งงบประมาณรายจ่ายด้านประกันสังคมคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด แม้ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ งบประมาณรายจ่ายด้านประกันสังคมก็ยังคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด

         ในประเทศยุโรป การเป็นรัฐสวัสดิการส่งผลลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมเคยคุยกับเพื่อนชาวจีนเรื่องนี้ เหมือนกับที่ผมเคยพูดกับเขาเรื่องภัยจากความร้อนแรงของตลาดการเงินที่วอลสตรีทซึ่งเป็นที่มาของวิกฤติเศรษฐกิจ เพื่อนชาวจีนอธิบายว่า ถ้าระดับความร้อนแรงของตลาดการเงินที่เหมาะสมคือหนึ่งร้อย จีนยังอยู่ที่สามสิบ อเมริกาอยู่ที่ร้อยสี่สิบ จีนยังร้อนแรงไม่พอ ส่วนอเมริการ้อนแรงเกินไป ในเรื่องการประกันสังคม ถ้าระดับที่เหมาะสมอยู่ที่ร้อย จีนยังอยู่ที่สิบ ยุโรปอยู่ที่ร้อยสามสิบ ปัญหาของอเมริกาและยุโรปคือทำเกินไป ปัญหาของจีนคือทำไม่พอ

         นักวิชาการจีนมักแสดงความคิดเห็นว่าคนจีนไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย ทำให้ตลาดจีนมีมูลค่าการบริโภคต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เหตุผลมีสองประการด้วยกัน หนึ่งคือ การใช้จ่ายของภาครัฐบาลสูงมาก ส่งผลให้การใช้จ่ายของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนลดลง หลายๆส่วนซึ่งควรเป็นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน สุดท้ายกลับต้องอาศัยการใช้จ่ายของภาครัฐบาลมากระตุ้นแทน สองคือ คนจีนไม่กล้าใช้เงิน ซึ่งนอกจากวัฒนธรรมการเก็บออมแล้ว การขาดระบบประกันสังคมที่ดีทำให้คนจีนจำเป็นต้องเก็บออมเงินไว้เพื่ออนาคต

         หลายปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนได้ตลาดสหรัฐช่วยไว้ แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น ทำให้ปัญหาของตลาดภายในของจีนเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์จีนหันมามองและวิเคราะห์กันมาก นี่อาจเป็นวิกฤติที่กลายเป็นโอกาส เป็นวิกฤติโลกที่ทำให้จีนมองเห็นปัญหาของตนชัดเจนขึ้น และกดดันให้รัฐบาลหันมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน

วิทยาลัยสังคมศาสตร์ของจีนได้ทำการศึกษาวิจัยและได้ผลสรุปว่า ถ้าในหนึ่งครัวเรือนในเขตเมืองมีสมาชิกที่มีประกันสังคมเพิ่มขึ้น ๑ คน การใช้จ่ายของครัวเรือนนั้นจะเพิ่มขึ้น ๑,๐๔๑ หยวน ถ้าในหนึ่งครัวเรือนในชนบทมีสมาชิกที่มีประกันสังคมเพิ่มขึ้น ๑ คน การใช้จ่ายของครัวเรือนนั้นจะเพิ่มขึ้น ๔๘๓ หยวน นักวิจัยเรื่องนี้สรุปว่า การสร้างระบบประกันสังคมที่ดีย่อม “ดีกว่ารัฐบาลแจกแต๊ะเอียตรงๆ เสียอีก”

นอกจากช่วยกระตุ้นให้คนลดการออม นำเงินมาจับจ่ายใช้สอย ระบบประกันสังคมที่ดียังช่วยขยายสัดส่วนของภาคบริการ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้สูงกว่าภาคการเกษตร  คนที่มีประกันสังคมที่ดีย่อมสามารถนำเงินมาใช้จ่ายในภาคบริการได้  และการสร้างระบบประกันสังคมให้ครบถ้วนจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการขยายตัวของภาคบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสในการสร้างงานในภาคบริการอีกเป็นจำนวนมหาศาล

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงประกาศว่าภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ จะสร้างระบบประกันสังคมที่สมบูรณ์ ซึ่งความหมายของระบบประกันสังคมนั้นคลอบคลุมกว้างขวางมาก อาทิ การประกันสุขภาพ การประกันการว่างงาน การประกันรายได้ สวัสดิการการศึกษา ระบบสังคมสงเคราะห์ เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ เบี้ยเลี้ยงคนพิการ ฯลฯ 

         การสร้างระบบประกันสังคมที่สมบูรณ์สำหรับคนจำนวน ๑,๓๐๐ ล้านคนนั้น ย่อมเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และท้าทายยิ่ง จนมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเรื่องภาระการคลัง หากเมื่อดูตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ แล้ว จะพบว่าจีนยังมีสามารถจัดสรรเงินมาลงทุนด้านนี้ได้อีกมาก เมื่อปีที่แล้ว  รัฐบาลจีนมีรายได้ ๖.๑๓ ล้านล้านหยวน เพิ่มจากปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ ๑๙.๕ และมีรายจ่าย ๖.๒๔ ล้านล้านหยวน เพิ่มจากปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ ๒๕.๔ ทำให้รัฐบาลขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ๑๑๐,๐๐๐ ล้านหยวน คิดเป็น ร้อยละ ๐.๓๗ ของจีดีพี ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดในรอบ ๑๐ ปี หากยึดตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าการขาดดุลไม่ควรเกินร้อยละ ๓ แล้ว จีนยังมีช่องว่างที่จะนำเงินมาลงทุนด้านประกันสังคมได้อีกมาก

 

แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ใหม่

         จุดมุ่งหมายที่สำคัญของจีนคือการคงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ๙ เปอร์เซนต์ (จุดหมายของรัฐบาลจีนในปีนี้คือ ๘ เปอร์เซนต์) ให้ได้ต่อไปเรื่อยๆ  

         เมื่อเริ่มเปิดประเทศ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือการดึงนักลงทุนต่างชาติและการส่งออก จนทุกวันนี้สินค้าเกือบทุกอย่างล้วนผลิตจากจีน ในเวลาที่เศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวย กดดันให้จีนต้องหันมามองการพัฒนาระยะยาวของตน ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการพึ่งพิงตลาดนอกมาพึ่งพิงตลาดใน

การจะทำให้ตลาดภายในชุ่มชวยและมีกำลัง นอกจากการปฏิรูประบบการเงินการคลังแล้ว ยังต้องอาศัยนโยบายประชานิยมเข้าช่วย รัฐบาลจีนต้องมุ่งปฏิรูปโครงสร้างรายได้ประชาชาติให้สมดุลย์และสร้างระบบประกันสังคมให้ครบถ้วน

         ผมมีข้อสังเกตและคำถามชวนคิดบางประการ ดังนี้

         หนึ่ง นโยบายประชานิยมของจีน มีเหตุผลเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และจีนมีความชัดเจนในการผูกความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายลดแลกแจกแถมเข้ากับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  นโยบายเหล่านี้จึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการสร้างความเป็นธรรม การรักษาสิทธิเสรีภาพ ฯลฯ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามคงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงไว้

         สอง เมื่อเรามองเห็นทิศทางดังนี้ รัฐบาลเราน่าจะส่งเสริมธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ หรือที่อาจจำเป็นและเอื้อต่อการสร้างและปฏิรูประบบประกันสังคมของจีน ให้เข้ามาคว้าโอกาสและลงทุนในจีน

         สาม ยุทธศาสตร์เช่นว่านี้ ไทยเราปรับเอามาใช้ไดบ้างไหม เราไปถึงไหนแล้ว และตัวเลขในเรื่องนี้ของเราเป็นอย่างไร 

ฝากให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายช่วยคิดต่อด้วย

ข้อความนี้ถูกเขียนใน เศรษฐกิจ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น